แหล่งทุนการศึกษาในปัจจุบัน แหล่งทุนที่สำคัญแหล่งแรกคือ รัฐบาล ของประเทศที่ต้องการบุคคลผู้มีความรู้ไว้รับราชการ ทั้งจากการไปศึกษาในต่างประเทศ และการศึกษาภายในประเทศ แต่เนื่องจากทุนเหล่านี้ ต้องการคัดเลือก ด้วยความสามารถทางวิชาการ หรือคุณสมบัติทางสังคม และวัฒนธรรม เป็นสำคัญ จึงไม่มีจุดมุ่งหมายช่วยเหลือผู้ขัดสนเป็นพิเศษ | |
ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย มอบทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความรู้พิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โครงการพสวท.) ให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาผู้ผ่านการสอบคัดเลือก | |
แหล่งทุนที่ภายหลังมีมาเสริมทุนของรัฐบาล คือ เอกชน ซึ่งมีตั้งแต่พระประมุขของประเทศ จนถึงบุคคลธรรมดา เหตุผล และจุดประสงค์ ของการให้ทุนมีต่างๆ กัน เริ่มตั้งแต่สมัยแรกที่มุ่ง ให้เป็นรางวัลสนับสนุนผู้เรียนดีมากกว่าให้เป็นทุน ค่าใช้จ่าย (ยกเว้นกรณีพิเศษที่มีผู้ขอร้องให้อนุเคราะห์) หรือที่มุ่งส่งเสริมการศึกษาในสาขาใด สาขาหนึ่ง ซึ่งผู้ให้ทุนมีความผูกพันเป็นพิเศษ จนมาถึงสมัยหลังที่มีการศึกษาภาคบังคับ และ ส่งเสริมการศึกษาที่สูงกว่าทุกระดับ รัฐจัดแบบ ให้เปล่า (ระดับประถมศึกษาภาคบังคับ) หรือ คิดค่าเล่าเรียนต่ำกว่าทุน (ในโรงเรียนระดับมัธยม และมหาวิทยาลัยของรัฐ ประเภทที่ผู้เรียนต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษา) เป็นการช่วยทางอ้อมให้ทุ่นภาระค่าใช้จ่ายในการศึกษา แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีผู้เรียนที่มีสติปัญญาแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์อยู่ในระบบดังกล่าว ทำให้เอกชนตั้งทุนช่วยเหลือ เป็นการบรรเทาภาระทางเศรษฐกิจ โดยตรงของผู้เรียนหรือผู้ปกครอง แหล่งทุนประเภทเอกชนนี้ในระยะหลัง ปรากฏมีองค์การหรือ บริษัทที่ทำการค้าธุรกิจเข้าร่วมมากขึ้น นอกจาก ให้เปล่าแล้ว ก็ยังมีทุนประเภทให้ไปศึกษา เพื่อกลับมาทำงานให้ตน เทียบได้กับทุนรัฐบาลให้คนไปศึกษา เพื่อกลับมารับราชการเช่นกัน ทุนประเภทนี้จึงไม่เป็นทุนสงเคราะห์ที่ให้เปล่า โดยไม่มีข้อผูกพันแก่ผู้ขัดสนโดยตรง นอกจากแหล่งทุนภายในประเทศแล้ว ยังมีแหล่งทุนต่างประเทศ ซึ่งช่วยเหลือให้ไปศึกษาในประเทศของผู้ให้ทุนโดยเฉพาะอีกด้วย ทุนต่างประเทศนี้ มีทั้งทุนที่รัฐบาลให้แก่รัฐบาลโดยตรง ตามข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศ เช่น ทุนของสำนักงานยูเสด (USAID) ทุนบริติชคาวน์ซิล (British Council) ทุนกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศญี่ปุ่น (Japan's Ministry of Education) หรือให้ผ่านองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ทุนองค์การอนามัยโลก (WHO) แหล่งทุนเอกชน มักได้แก่ องค์การ สมาคม หรือมูลนิธิ เช่น สภาพัฒนาการเกษตร (Agricultural Development Council) สภาประชากร (Population Council) มูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) สถาบัน ฮาร์วาร์ดเยนซิง (Harvard-Yenching Institute) ของสหรัฐอเมริกา การให้ทุน เพื่อการศึกษาจากแหล่งต่างประเทศเหล่านี้ ในปัจจุบัน ปกติ จะแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐบาลไทยรับทราบ เช่น กรมวิเทศสหการ แต่ในสมัยก่อนที่ยังไม่มี หน่วยประสานงานการช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่นนี้ มักเป็นการติดต่อโดยตรง ระหว่างหน่วยงานที่มีความประสงค์ตรงกัน ของแต่ละประเทศ หรือมีการประกาศให้ทุน โดยเปิดเผย เพื่อผู้สนใจไปสมัครขอหรือสอบแข่งขัน การให้ทุนจากต่างประเทศ ที่กระทำในเชิงปกปิด ถือเป็นเรื่องกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เพราะไม่ทราบเจตนา และเงื่อนไขของทุน |