เล่มที่ 12
การศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักในความสำคัญของหนังสือสารานุกรมว่า เป็นแหล่งความรู้ที่จำเป็น ในการศึกษา แก่คนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะเด็กไทยที่ยังขาดที่เรียน และหนังสือเรียนอยู่เป็นอันมาก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ จึงได้มีพระราชปรารภเรื่องการจัดทำหนังสือสารานุกรม สำหรับเด็กและเยาวชนขึ้น พระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับสารานุกรมไทย สำหรับเยาวชนฯ พอจะอัญเชิญมากล่าวโดยสรุปดังนี้


สารานุกรมไทยสำหรับยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดทำเรื่องราวให้เหมาะสำหรับผู้อ่านสามระดับอายุ จึงเป็นสารานุกรมที่เหมาะสำหรับสมาชิกทุกคนในครอบครัว

            ๑. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ต้องเป็นหนังสือที่คนไทยเป็นผู้เขียนขึ้น เพื่อให้คนไทยอ่าน จัดทำ โดยทุนของคนไทย ไม่ใช่ถอดแบบมาจากต่างประเทศเสียทั้งหมด คือ เพียงแต่รักษาแบบที่ฝรั่งทำไว้เป็นตัวอย่างดีอยู่แล้ว นำมาคิดทำแบบของเรา ให้เหมาะสมกับคนไทย

            ๒. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ ต้องเป็นหนังสือประเภทความรู้ทั่วไป มีความรู้สารพัดอย่าง จะช่วยแก้ปัญหา ของการขาดแคลนแหล่งความรู้ การขาดแคลนครู และการขาดแคลนโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

            ๓. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ จะต้องให้ความรู้ในวิชาทุกสาขาวิชา และแต่ละสาขาวิชานั้น มีความสัมพันธ์ ซึ่งกันและกัน

            ๔. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ จะทำขึ้นสำหรับ ๓ ระดับอายุ ในเล่มเดียวกัน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเรื่องราวได้ ตามระดับอายุ คือ

            ก) ระดับเด็กเล็ก อายุระหว่าง ๘-๑๑ ปี
            ข) ระดับเด็กกลาง อายุระหว่าง ๑๒-๑๔ ปี
            ค) ระดับเด็กโต เรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา และผู้ใหญ่ผู้สนใจทั่วไป

            ๕. สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ นี้ ต้องมีเฉพาะหลักวิชาแท้ เฉพาะข้อเท็จจริง ผู้เขียนจะไม่แสดงความคิดเห็นของตนเอง ในเรื่องนั้นๆ