เล่มที่ 12
การศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ห้องสมุดในประเทศไทย

            ห้องสมุดในอดีตของประเทศไทย ก็เป็นเช่นเดียวกับห้องสมุดในบางประเทศ คือ แต่เดิมมีเพียงห้องสมุดในวัด และในพระราชวัง เป็นส่วนใหญ่ ในวัดมีการสอนพุทธศาสนา และภาษาบาลีแก่ภิกษุ สามเณร สอนอ่านและเขียนตัวอักษรขอมบนใบลาน จึงมีอาคารเก็บรวบรวมพระคัมภีร์ไตรปิฎก เรียกว่า หอไตร จัดเป็นอาคารเอกเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของวัด หอไตรบางแห่ง เก็บหนังสืออย่างอื่นด้วย เช่น กฎหมาย ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคาร เก็บพระคัมภีร์ไตรปิฎก ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวม และชำระคือ ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วคัดลงใหม่ในใบลาน อาคารหลังนี้พระราชทานนามว่า หอพระมณเฑียรธรรม ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริ รวบรวมพระไตรปิฎกฉบับต่างๆ ในประเทศไทย รวมทั้งฉบับที่แปลเป็นภาษาต่างประเทศในประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระพุทธศาสนาสังคหะขึ้น ในวัดเบญจมบพิตร ปรากฏว่า รวบรวมพระคัมภีร์ได้มาก เมื่อทรงสถาปนาหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถคือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมหอพระมณเฑียรธรรม หอพระพุทธศาสนสังคหะ และหอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งมีอยู่แล้ว ในพระบรมมหาราชวังเข้าด้วยกัน เป็นหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนคร พระราชทานโอกาสให้ประชาชนชาวไทยเข้าอ่านหนังสือในหอพระสมุดแห่งนี้ได้
หอไตร วัดระฆังโฆษิตาราม
หอไตร วัดระฆังโฆษิตาราม
            วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในกรุงเทพมหานคร เป็นอีกวัดหนึ่ง ซึ่งมีการรวบรวมหนังสือไว้มาก เพื่อการศึกษา ของพระภิกษุสามเณร และของประชาชน นอกจากหอไตรซึ่งเก็บรวบรวมพระคัมภีร์ทางพุทธศาสนาแล้ว ยังมีจารึกต่างๆ ภาพเขียน ภาพปั้น ภาพแกะสลักนูนต่ำ อยู่ตามเสา และระเบียงโบสถ์วิหารเป็นตำรายา เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี คนต่างชาติ การบริหารร่างกายเพื่อสุขภาพ วรรณคดีเรื่องต่างๆ เรื่องราวเหล่านี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเรื่องที่มีอยู่เดิม และให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตช่วยกันแต่ง จารึกลงไว้ตามที่ต่างๆ มีทั้งคำบรรยาย และภาพประกอบ ให้ราษฎรได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ นับกันว่าเ ป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย

            หลักฐานที่บอกให้ทราบว่ามีห้องสมุดอยู่ ในพระมหาราชวังในกรุงศรีอยุธยาเท่าที่พบมีแห่งเดียว คือ ข้อความที่บอกไว้ในบานแผนก ของหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ (เรียกชื่อตามหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ผู้ค้นพบหนังสือฉบับนี้) ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมหนังสือจากหอหลวงมาแต่งพระราชพงศาวดารฉบับนี้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมหนังสือที่เหลือจากการถูกพม่าเผาและทำลาย เข้ามาไว้ในกรุงธนบุรี ตั้งหอหลวงหรือหอพระสมุดหลวงขึ้นใหม่ตามแบบอย่างกรุงศรีอยุธยา หนังสือส่วนหนึ่ง คือ พระไตรปิฎก โปรดเกล้าฯ ให้ขอยืมมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งพม่าไม่ได้รุกรานไปถึง หนังสือจึงยังคงอยู่ในสภาพบริบูรณ์

            พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมหนังสือเพิ่มขึ้น มีหนังสือกฎหมาย วรรณคดีบางเรื่อง และเรื่องอื่นๆ ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้ทำบัญชีหนังสือในหอหลวงขึ้นไว้ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีการติดต่อกับชาวตะวันตก พวกคณะเผยแพร่คริสต์ศาสนาเข้ามาในประเทศไทย นำเอากิจการพิมพ์หนังสือด้วยเครื่องจักร และความรู้ใหม่ๆ เข้ามา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งได้ศึกษาภาษาอังกฤษ ได้สั่งซื้อหนังสือต่างประเทศเข้ามา หนังสือในห้องสมุดส่วนพระองค์ และส่วนตัวเหล่านี้ ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนครขึ้นแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ ก็ได้พระราชทาน และประทานหนังสือส่วนพระองค์ ให้เป็นของหอพระสมุดแห่งนี้ ซึ่งในสมัยต่อมา เมื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองแล้วก็ได้ชื่อว่า หอสมุดแห่งชาติ