หอสมุดแห่งชาติ
หอสมุดแห่งชาติในปัจจุบันนี้ เมื่อแรกตั้ง มีชื่อว่า หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร หอพระสมุดฯ ได้รวบรวมหนังสือไว้เป็นอันมาก ทั้งหนังสือตัวเขียนที่เป็นเล่มสมุดไทย และใบลาน ศิลาจารึก หนังสือภาษาต่างประเทศในวิชาต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเมืองไทย และวิชาที่ส่วนราชการกระทรวงต่างๆ เกี่ยวข้อง ต้องใช้ ได้จัดวางระบบการจัดหมู่ และทำรายการหนังสือ ตามแบบห้องสมุดในยุโรป จัดให้มีบริการตอบคำถาม มีการแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์กับนานาประเทศ ขอความร่วมมือจากรัฐบาลต่างๆ ที่เคยมีสัมพันธไมตรีกับไทยในอดีต ให้ช่วยคัดลอกเอกสารจดหมายเหตุ จดหมายติดต่อระหว่างกัน และบันทึก รายงานเกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเก็บอยู่ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ มาเก็บไว้ ณ หอพระสมุดฯ งานที่สำคัญที่สุด คือ การตรวจชำระหนังสือตัวเขียน แล้วจัดพิมพ์เผยแพร่ โดยวิธีขอร้องให้เอกชนช่วยจัดพิมพ์ เป็นของชำร่วยในงานมงคล และงานศพ ทำให้เกิดมีหนังสือเพิ่มขึ้นมาก และแจกจ่ายให้อ่านกันได้มากกว่าเดิม
| บรรณารักษ์หอสมุดแห่งชาติช่วยแนะนำ และค้นหาหนังสือ ให้แก่ผู้ใช้บริการ |
เมื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแล้ว หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร เปลี่ยนสถานภาพเป็นหน่วยงานหนึ่ง ในราชบัณฑิตยสถาน ในระดับแผนก ต่อมาเปลี่ยนไปสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน คือ ใน พ.ศ. ๒๕๓๕ หอสมุดแห่งชาติเป็นหน่วยงานในระดับกอง ที่มีผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบเช่นเดียวกับหอสมุดแห่งชาติ ในนานาประเทศ ดังกล่าวไว้ในหน้าที่ ของหอสมุดแห่งชาติ กิจกรรมที่พิเศษออกไปก็คือ ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติ ประจำประเทศไทย และเป็นศูนย์ข้อมูลวารสารระหว่างชาติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นศูนย์แจกจ่ายรหัส หรือเลขประจำหนังสือสากล เข้าร่วมในโครงการควบคุมบรรณานุกรม และแลกเปลี่ยนสิ่งพิมพ์ ระหว่างหอสมุดแห่งชาติ และศูนย์เอกสารแห่งชาติ ของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หอสมุดแห่งชาติส่วนกลาง ตั้งอยู่ที่ถนนสามเสน ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร มีหอสมุดในส่วนภูมิภาคอีกหลายแห่ง ซึ่งนอกจากให้บริการทางหนังสือแล้ว ยังทำหน้าที่แสวงหา รวบรวม และอนุรักษ์หนังสือตัวเขียน ที่ยังคงมีเหลืออยู่ในจังหวัดต่างๆ