การสะสมเริ่มแรก
พิพิธภัณฑสถานเกิดมาจากพื้นฐานอุปนิสัยของมนุษย์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น และสนใจเรื่องราวต่างๆ รอบตัว เมื่อพบสิ่งของ ที่แปลกใหม่ มนุษย์ก็นิยมสะสมไว้เป็นของที่ระลึก เมื่อของสะสมมีจำนวนมากขึ้น จึงได้พัฒนาระบบในการจัดเก็บให้เป็นระเบียบขึ้น หลังจากนั้นจึงนำมาแสดงให้ผู้อื่นได้ร่วมชื่นชม
หลักฐานการสะสมตามแนวทางของงานพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน ได้ปรากฏให้เห็นเมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยได้มีการค้นพบศิลาจารึกจำลองในบริเวณที่เป็นโรงเรียน ในเมืองลาร์ซา (Larsa) แคว้นเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) โดยสันนิษฐานว่าทำขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน ต่อมาพบหลักฐานเพิ่มเติมทำนองเดียวกันอีก เมื่อมีการขุดค้นทางโบราณคดีที่เมืองอูร์ (Ur) ในบริเวณชั้นดินที่อยู่ในสมัยศตวรรษที่ ๖ ก่อนคริสต์ศักราช โดยพบห้องเก็บโบราณวัตถุมากมาย ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณที่เป็นโรงเรียนของวัด บางส่วนเป็นศิลาจารึกโบราณ ที่มีเนื้อหาตรงกับแผ่นป้ายคำบรรยายที่กล่าวถึงจารึกต่างๆ ที่พบในพื้นที่ใกล้เคียง นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า แผ่นป้ายคำบรรยายนี้ ทำหน้าที่คล้ายป้ายคำบรรยายที่ใช้ในพิพิธภัณฑสถานปัจจุบัน การค้นพบนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ไม่ใช่เฉพาะกษัตริย์เท่านั้น ที่สะสมโบราณวัตถุ แต่วัดก็ยังมีการสะสมด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกัน แม้ว่าอาณาจักรกรีกและโรมัน จะเป็นต้นเค้าแห่งคำว่า Museum แต่ไม่เคยมีการค้นพบหลักฐานการดำเนินงานของสถานที่ ที่ทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑสถานอย่างจริงจัง มีเพียงสถานที่เก็บสมบัติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศาสนวัตถุ และมีสิ่งของ ที่ได้รับมาจากแดนไกลปะปนอยู่ด้วย บางรายการเป็นวัตถุทางธรรมชาติที่เป็นของแปลก บางชนิดเป็นของที่หายากจากต่างประเทศ มีหลักฐานว่า คลังสมบัติเหล่านี้ในบางคราวก็เปิดให้สาธารณชนเข้าชมโดยเก็บค่าธรรมเนียม อย่างไรก็ดี ยังไม่ปรากฏว่า มีการดำเนินงานพิพิธภัณฑสถานเช่นปัจจุบัน
อนึ่ง การเก็บรวบรวมสะสมศาสนวัตถุในอดีต ก็ทำให้เกิดการสะสมที่นำไปสู่การจัดเก็บเป็นพิพิธภัณฑสถาน ดังปรากฏในประเทศแถบซีกโลกตะวันออกหลายแห่ง เช่น อิหร่าน อินเดีย เนปาล จีน ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย