เล่มที่ 40
พิพิธภัณฑสถาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พิพิธภัณฑสถานเพื่อสังคม

ในยุคสมัยที่มีการแผ่ขยายการปกครองของโลกตะวันตกมาสู่โลกตะวันออก แนวความคิดในเรื่องการเรียนรู้เกี่ยวกับมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ได้แพร่หลายมาสู่ภูมิภาคอื่นๆ ด้วย กลุ่มชาวตะวันตกที่ได้เดินทางมายังดินแดนใหม่เหล่านี้ มีความสนใจ ที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับคนและสิ่งแวดล้อมที่พวกตนยังไม่คุ้นเคย จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะรวบรวมวัตถุเพื่อแสดงถึงเรื่องราวต่างๆ ของดินแดนที่ตนยึดครอง และนำมาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถาน มีการจัดตั้งสมาคม เพื่อการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคน สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในหลายพื้นที่ ต่อมาเมื่อประเทศต่างๆ ได้รับเอกราช วัตถุสะสมเหล่านี้ กลายเป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งหลาย เช่น วัตถุสะสมจากสมาคมเพื่อศิลปวิทยาการแห่งเมืองปัตตาเวีย ประเทศอินโดนีเซีย (The Batavia Society of Arts and Science) จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมาคมเอเชียติกแห่งเมืองเบงกอล (The Asiatic Society of Bengal) ประเทศอินเดีย จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ เน้นการสะสมเพื่อแสดงเรื่องราวของประเทศนั้นๆ เป็นหลัก