ประเภทของพิพิธภัณฑสถาน
วิวัฒนาการของงานพิพิธภัณฑ์ทำให้ขอบเขตของพิพิธภัณฑสถานขยายออกไป ดังนี้
๑. การแบ่งประเภทตามลักษณะการบริหาร
พิพิธภัณฑสถานสามารถแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้แก่
ก. พิพิธภัณฑสถานของรัฐ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
หมายถึง พิพิธภัณฑสถานที่มีการแสวงหาและเก็บรวบรวมสิ่งของที่เป็นหลักฐาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับชาติและคนในชาติ บางครั้งก็เน้นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ บางครั้งครอบคลุมถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิ่งประดิษฐ์ค้นคว้าต่างๆ ทำหน้าที่แสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาและความเป็นไปของชาติและคนในชาติ อยู่ในความดูแลของรัฐ ทั้งในด้านงบประมาณ และการบริหารจัดการ เช่น สถาบันสมิธโซเนียน ของสหรัฐอเมริกา บริติชมิวเซียม ของประเทศอังกฤษ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ของประเทศไทย
โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พิพิธภัณฑสถานของส่วนการปกครอง
หมายถึง พิพิธภัณฑสถานที่บริหารจัดการโดยองค์กรการปกครองระดับต่างๆ ตามที่มีการจัดระบบกันในประเทศนั้นๆ เนื้อหาที่นำเสนอเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับมรดกทางธรรมชาติ ศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งประวัติความเป็นมาของส่วนการปกครอง เช่น พิพิธภัณฑสถานประจำรัฐ พิพิธภัณฑสถานประจำเมือง พิพิธภัณฑสถานประจำท้องถิ่น พิพิธภัณฑสถานประจำชุมชน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุโขทัย
พิพิธภัณฑสถานประจำหน่วยราชการ (กระทรวง/ทบวง/กรม ฯลฯ)
หมายถึง พิพิธภัณฑสถานที่นำเสนอภารกิจของหน่วยราชการต่างๆ ที่อาจแบ่งย่อยออกไปตามลักษณะของงานที่ปฏิบัติ พิพิธภัณฑสถานจะเสนอประวัติความเป็นมาของหน่วยงานและผลงานที่แต่ละหน่วยงานได้ประดิษฐ์คิดค้นและพัฒนามาตามลำดับ เช่น พิพิธภัณฑสถานขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา (National Aeronautics and Space Administration-NASA) พิพิธภัณฑสถานประเภทนี้ในประเทศไทย เช่น พิพิธภัณท์กองทัพบกเฉลิมพระเกียรติ พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ และพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ
พิพิธภัณฑสถานมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา
หมายถึง พิพิธภัณฑสถานที่จัดตั้งขึ้นมาโดยสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นหลัก เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างที่นักวิชาการ ในแต่ละสาขาได้รวบรวมศึกษาค้นคว้าวิจัย นำมาใช้เป็นสื่อการสอนที่ถ่ายทอดให้นักศึกษาได้เรียนรู้ต่อไป ต่อมา พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑสถานประจำสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยนั้นๆ แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของศาสตร์นั้นๆ ซึ่งในแต่ละมหาวิทยาลัยอาจมีพิพิธภัณฑสถานหลายประเภท เนื่องจากมีการเรียนการสอนหลายด้าน เช่น พิพิธภัณฑสถานในสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑสถานในสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในสหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑสถานในสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย
ข. พิพิธภัณฑสถานของเอกชนหรือบุคคล
เป็นพิพิธภัณฑสถานที่เกิดขึ้นมาจากความสนใจในการเก็บรวบรวม อนุรักษ์ และจัดแสดงวัตถุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ และธรรมชาติ พิพิธภัณฑสถานรุ่นแรกส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นและบริหารจัดการโดยส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอยู่ นอกจากบริหารจัดการโดยบุคคลแล้ว ยังมีที่จัดตั้งขึ้นโดยหน่วยงานภาคเอกชน อาจเกิดขึ้นจากความสนใจของผู้ประกอบการ หรือเกี่ยวกับภารกิจของหน่วยงาน เช่น พิพิธภัณฑ์หุ่นขึ้ผึ้งมาดามทุสโซ (Madame Tussauds) พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ (The Sherlock Holmes Museum) ในประเทศอังกฤษ ซึ่งบริหารจัดการโดยองค์กรเอกชน ตลอดจนพิพิธภัณฑสถานเอกชน และส่วนบุคคลหลายแห่งในประเทศไทย เช่น พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน พิพิธภัณฑ์เมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ พิพิธภัณฑ์โชคชัย พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
๒. การแบ่งประเภทตามลักษณะวัตถุพิพิธภัณฑ์
มีการแบ่งประเภทตามลักษณะวัตถุพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจำแนกตามหลักของศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นภารกิจหลักของพิพิธภัณฑสถาน ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงมีการดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ตลอดจนเสาะแสวงหาเก็บรวบรวมวัตถุพิพิธภัณฑ์ ที่จะส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ในศาสตร์นั้นๆ
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
พิพิธภัณฑสถานประเภทนี้ มีการจำแนกเป็นประเภทย่อยมากขึ้น ตามความก้าวหน้าของศิลปวิทยาการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
ก. พิพิธภัณฑสถานแบบทั่วไป
สมัยแรกเริ่ม พิพิธภัณฑสถานเกิดขึ้นด้วยการรวบรวมของแปลกหรือหายาก ทั้งศิลปวัตถุ วัตถุที่เกิดตามธรรมชาติ หรือวัตถุที่ได้จากต่างแดน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งจากการรวบรวม บริจาค หรือเป็นของที่ระลึก ดังนั้น จึงมีวัตถุพิพิธภัณฑ์หลากหลายประเภทจัดแสดง เรียกพิพิธภัณฑสถานประเภทนี้ว่า พิพิธภัณฑสถานแบบทั่วไป หรือพิพิธภัณฑสถานแบบสารานุกรม คือ การรวบรวมวัตถุพิพิธภัณฑ์สารพัดชนิดนำมาจัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่ ส่วนใหญ่เป็นพิพิธภัณฑสถานที่เกิดจากการสะสมของส่วนบุคคล ซึ่งต่อมาได้มอบให้แก่รัฐ และได้กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในเวลาต่อมา เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย บริติชมิวเซียม ประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรปราการ
ข. พิพิธภัณฑสถานประเภทศิลปะและวัฒนธรรม
พิพิธภัณฑสถานประเภทนี้เป็นที่รวบรวมสิ่งของต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ทั้งสิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นและกลายเป็นงานศิลปะ และสิ่งที่เป็นหลักฐาน ทางด้านวัฒนธรรมของมนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์ นับเป็นพัฒนาการของประเภทพิพิธภัณฑ์ ที่เกิดขึ้นตามความก้าวหน้าของศิลปวิทยาการ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสาขาย่อย ตามเนื้อหาได้ดังนี้คือ
พิพิธภัณฑสถานศิลปะ
หมายถึง พิพิธภัณฑสถานที่รวบรวม อนุรักษ์ผลงานศิลปะและสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ทุกประเภท ทั้งทัศนศิลป์ วิจิตรศิลป์ ศิลปะประยุกต์ และหัตถศิลป์ของยุคสมัยต่างๆ บางแห่งรวบรวมและจัดแสดงงานศิลปะจากทั่วโลก หรืออาจจัดแสดงเฉพาะภูมิภาค หรือเฉพาะประเทศ บางแห่งเรียกตัวเองว่า พิพิธภัณฑสถาน หรือใช้ชื่อว่า หอศิลป์ บางแห่งจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑสถาน ที่รวบรวมงานศิลปะของศิลปินคนเดียว หรืองานศิลปะประเภทเดียวเท่านั้น จึงสามารถจำแนกออกเป็นประเภทย่อยๆ ได้อีก อาทิ พิพิธภัณฑสถานศิลปะ พิพิธภัณฑสถานศิลปะร่วมสมัย พิพิธภัณฑสถานศิลปะสมัยใหม่ หรือหอศิลป์ และพิพิธภัณฑสถานเฉพาะเรื่อง เช่น พิพิธภัณฑ์แวน โก๊ะ (Van Gogh Museum) ประเทศเนเธอร์แลนด์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
พิพิธภัณฑสถานประวัติศาสตร์
หมายถึง พิพิธภัณฑสถานที่รวบรวมหลักฐานต่างๆ ที่เป็นโบราณวัตถุ หรือวัตถุที่เกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมา ชีวิตความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรมของมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี หรือแสวงหามาจากที่ต่างๆ บางครั้งเป็นแหล่งโบราณคดี เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี หรือเป็นแหล่งโบราณสถาน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ รวมถึงพิพิธภัณฑสถานเฉพาะเรื่อง อาทิ บ้านของบุคคลสำคัญ เช่น พิพิธภัณฑ์บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
พิพิธภัณฑสถานชาติพันธุ์วิทยา
หมายถึง พิพิธภัณฑสถานที่เก็บรวบรวม อนุรักษ์สิ่งของ และจัดแสดงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ เผ่าพันธุ์ต่างๆ ในด้านมานุษยวิทยาและด้านวัฒนธรรม หรืออาจนำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ที่ดำเนินอยู่จริงในท้องถิ่น หรือในย่านต่างๆ ที่เรียกว่า พิพิธภัณฑสถานมีชีวิต สามารถแบ่งตามลักษณะการนำเสนอเป็นประเภทต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑสถานพื้นบ้าน พิพิธภัณฑสถานย่านประวัติศาสตร์
ค. พิพิธภัณฑสถานประเภทธรรมชาติวิทยา
เป็นการรวบรวมวัตถุที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนำมาจัดแสดง ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ พืช และทรัพยากรธรณี จึงปรากฏเป็นรูปแบบและเรียกชื่อต่างๆ กัน เช่น พิพิธภัณฑสถานประวัติธรรมชาติ อุทยานแห่งชาติ สถานพันธุ์สัตว์ป่า สวนสัตว์ สถานพันธุ์สัตว์น้ำ พิพิธภัณฑสถานสัตว์ดึกดำบรรพ์ อาทิ ไดโนเสาร์ หรือซากสัตว์ต่างๆ พิพิธภัณฑสถานเฉพาะเรื่อง อาทิ พิพิธภัณฑ์แมลง
พิพิธภัณฑ์ประเภทธรรมชาติวิทยา สถานพันธุ์สัตว์น้ำบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถานพันธุ์สัตว์น้ำของกรมประมง
ง. พิพิธภัณฑสถานประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หมายถึง พิพิธภัณฑสถานที่รวบรวม อนุรักษ์และจัดแสดงวัตถุที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น พิพิธภัณฑสถานการเกษตร พิพิธภัณฑสถานด้านอุตสาหกรรม พิพิธภัณฑสถานยานอวกาศ พิพิธภัณฑสถานเครื่องบิน
ห้องจัดแสดงยานอวกาศและมนุษย์อวกาศจำลอง
ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศษสตร์ (อพวช.) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี