เล่มที่ 40
พิพิธภัณฑสถาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พิพิธภัณฑสถานสาธารณะ

            ความตื่นตัวในเรื่องของการเรียนรู้ที่รอบด้านในสังคมยุโรปช่วงนั้น ทำให้เกิดสถานศึกษาขึ้นหลายแห่ง และสถานศึกษาบางแห่ง ได้เริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน เช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดประเทศอังกฤษ ได้เปิดพิพิธภัณฑสถานชื่อว่า พิพิธภัณฑ์แอชโมลีน (The Ashmolean Museum) เมื่อพ.ศ. ๒๒๒๖ เพื่อให้บริการแก่สาธารณชน ซึ่งถือได้ว่า เป็นพิพิธภัณฑสถานสาธารณะแห่งแรก ของโลกที่เปิดโดยสถานศึกษา และเพื่อบริการแก่สาธารณชน วัตถุพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นสิ่งของ ที่รวบรวมมาจากที่ต่างๆ โดยครอบครัวทราเดสแคนต์ (Tradescant) มอบให้แก่มหาวิทยาลัย ของสะสมนี้เป็นการรวมสิ่งของต่างๆ ทั้งของแปลกและหายากทางธรรมชาติ โบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลากหลายชนิด พิพิธภัณฑสถานลักษณะนี้ จัดอยู่ในประเภทพิพิธภัณฑสถานแบบสารานุกรม (encyclopaedic museum) ที่มีลักษณะการจัดแสดงแบบเปิดเป็นห้องต่างๆ แสดงวัตถุนานาชนิดเต็มห้อง มีทั้งที่เก็บไว้ในตู้และวางลอยตัว การจัดแสดงแบบนี้เรียกว่า การจัดแสดงที่เน้นการสะสมของแปลก และหายาก (curiosity cabinet) ต่อมาเมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และมีการบริจาคสิ่งของ ให้แก่สาธารณะมากขึ้น จึงเกิดพิพิธภัณฑสถานประเภทนี้ในอีกหลายประเทศ เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) ประเทศฝรั่งเศส และบริติชมิวเซียม (The British Museum) ประเทศอังกฤษ



พิพิธภัณฑ์แอชโมลีน ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ