เล่มที่ 40
พิพิธภัณฑสถาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
หน้าที่ของพิพิธภัณฑสถาน

            นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ได้ให้คำจำกัดความของ "พิพิธภัณฑสถาน" ไว้ว่า "สถาบันที่จัดตั้งขึ้น เพื่อรับใช้สังคม และอยู่ควบคู่กับทุกพัฒนาการของสังคมอย่างมั่นคง ด้วยการทำหน้าที่รวบรวม อนุรักษ์ ศึกษาค้นคว้า และวิจัยมรดกของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่จับต้องได้และไม่ได้ เพื่อนำเนื้อหามาสื่อสารและจัดแสดงให้กับส่วนรวม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการให้การศึกษา การเรียนรู้ และเพื่อความเพลิดเพลิน" ทำให้สามารถแบ่งหน้าที่และลักษณะงานพิพิธภัณฑ์ ออกได้เป็นกลุ่มงานตามหน้าที่ ดังนี้

ก. การแสวงหาและรวบรวม

            หน้าที่หลักของงานพิพิธภัณฑ์ คือ การแสวงหาและรวบรวมวัตถุตามภารกิจของพิพิธภัณฑสถานประเภทนั้นๆ ในสมัยแรก เป็นไปตามความสนใจของเจ้าของพิพิธภัณฑสถาน  ต่อมาเมื่อมีการแบ่งพิพิธภัณฑสถานออกเป็นประเภทต่างๆ แล้ว การรวบรวมวัตถุจึงดำเนินไปเพื่อให้ได้มาซึ่งเรื่องราวทางวิชาการที่ครบถ้วนมากขึ้น โดยต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าประกอบ เพื่อจะได้มีเป้าหมายการรวบรวมวัตถุที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งวิธีการรวบรวมอาจแบ่งเป็นหลายแนวทาง ได้แก่ การรวบรวมจากการขุดค้น ทางโบราณคดีทั้งบนดิน ใต้น้ำ หรือในอวกาศ การรับบริจาค และการซื้อหรือแลกเปลี่ยน



การจัดแสดงเรือพระราชพิธีจำลอง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี อำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี

ข. การตรวจสอบ จำแนกประเภท การศึกษาค้นคว้าวิจัย

            เมื่อรวบรวมวัตถุแล้ว ต้องตรวจสอบว่า วัตถุนั้นเป็นอะไร จำแนกอายุสมัยที่เกี่ยวข้อง และจำแนกประเภทว่าเป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ วัตถุทางชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมด้านใด โดยนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับวัตถุที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ผลในการศึกษาค้นคว้าวิจัยสำหรับนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนต่อไป นักวิชาการผู้รับผิดชอบ ในการแสวงหา รวบรวม และศึกษาวิจัยงานพิพิธภัณฑ์เรียกว่า "ภัณฑารักษ์"

ค. การบริหารจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์

            วัตถุพิพิธภัณฑ์ที่ได้ผ่านการจำแนกประเภทแล้ว ทุกรายการจะต้องเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เกิดระบบ ในการควบคุมดูแลให้การเก็บรักษาเป็นไปอย่างปลอดภัย ป้องกันอันตรายจากเรื่องการสูญหาย การเสื่อมสลาย และป้องกัน ไม่ให้เกิดความสับสนในการค้นหา โดยกระบวนการแบ่งเป็น ๗ ขั้นตอน ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องทำงานสัมพันธ์กันตลอดเวลา คือ



การจัดแสดงนิทรรศการถาวร นำเสนอวัตถุพิพิธภัณฑ์ชิ้นสำคัญ ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เข้าชม
๑. การจัดทำทะเบียน

            คือ การบันทึกข้อมูลสัณฐานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุนั้นๆ คือ ชื่อวัตถุ ขนาด วัสดุ สภาพ อายุสมัย ที่มา และต้องมีหมายเลขประจำวัตถุ ติดไว้ที่วัตถุด้วย เพื่อสะดวกในการค้นหา  ปัจจุบันได้นำระบบสัญญาณการรับรู้เข้ามาช่วย พร้อมทั้งถ่ายภาพวัตถุอย่างละเอียดเก็บไว้ การบันทึกข้อมูลอาจทำเป็นบัตรทะเบียน สมุดทะเบียน หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือทุกรูปแบบ ซึ่งนอกจากจะช่วยในการจัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ให้เป็นระเบียบ เพื่อสะดวกในการค้นหาแล้ว ยังเป็นการป้องกันการทุจริต ของผู้ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบหน้าที่นี้คือ นายทะเบียน ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการวางระบบทะเบียน และปรับปรุงแก้ไขเอกสารแบบบันทึกข้อมูลให้เหมาะสมกับวัตถุแต่ละประเภท นายทะเบียนต้องวางระบบ การบริหารจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่เมื่อแรกรับวัตถุพิพิธภัณฑ์เข้ามาในการดูแลของพิพิธภัณฑสถาน และต้องทราบการเคลื่อนที่ของวัตถุพิพิธภัณฑ์ตลอดเวลา ดังนั้น ขั้นตอนนี้จึงครอบคลุมหน้าที่ในการบรรจุหีบห่อและเปิดหีบห่อ เมื่อมีการเคลื่อนย้ายวัตถุพิพิธภัณฑ์



การจัดแสดงนิทรรศการถาวร นำเสนอวัตถุพิพิธภัณฑ์ชิ้นสำคัญ ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เข้าชม

๒. การอนุรักษ์
            
            คือ ขั้นตอนในการตรวจสภาพวัตถุโดยนักอนุรักษ์ เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงเมื่อเวลาที่จัดแสดงหรือจัดเก็บ จากนั้น เป็นการอบฆ่าแมลงด้วยระบบต่างๆ เช่น การใช้ความเย็น สมัยก่อนมีการใช้สารเคมี แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมใช้แล้ว เนื่องจาก อาจเป็นอันตรายกับเจ้าหน้าที่ นักอนุรักษ์ต้องมีพื้นความรู้ด้านการอนุรักษ์ตามประเภทของวัตถุ และหากมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อการอนุรักษ์ด้วยก็จะยิ่งมีประโยชน์กับการสงวนรักษาสภาพของวัตถุให้มั่นคงได้อย่างยั่งยืน

๓. การจัดเก็บ

            วัตถุพิพิธภัณฑ์เมื่อผ่านการบันทึกหลักฐาน กำหนดหมายเลข และอบฆ่าแมลงแล้ว เจ้าหน้าที่ทะเบียนจะต้องนำวัตถุพิพิธภัณฑ์นั้น เข้าจัดเก็บในสถานที่ที่เรียกว่า คลังพิพิธภัณฑ์ ที่จะจำแนกไว้ตามประเภทของวัตถุและวัสดุ เพื่อสะดวกในการควบคุมสิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสมต่อการอนุรักษ์สภาพของวัตถุนั้นๆ และยังสะดวกในการค้นหาหากต้องการใช้วัตถุพิพิธภัณฑ์นั้นๆ ขั้นตอนของงานนี้ อยู่ในความดูแลของนายทะเบียน ซึ่งต้องควบคุมดูแลการบันทึกข้อมูลสถานที่จัดเก็บวัตถุพิพิธภัณฑ์ ให้เป็นข้อมูลที่ทันสมัย อยู่ตลอดเวลา



การจัดแสดงนิทรรศการถาวร นำเสนอวัตถุพิพิธภัณฑ์ชิ้นสำคัญ ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เข้าชม

๔. การเล่าเรื่อง

            ในระหว่างที่กระบวนการการบริหารจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์ดำเนินไป ภัณฑารักษ์จะดำเนินการศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องราว ของวัตถุพิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด เพื่อศึกษาเปรียบเทียบและรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดมาวางเป็นแนวทาง ในการนำเสนอเป็นเนื้อหาการจัดแสดง ในรูปแบบของนิทรรศการ กระบวนการในขั้นตอนนี้คือ การนำผลการศึกษาวิเคราะห์และวิจัย  มาสังเคราะห์และประมวล เพื่อให้เกิดเรื่องราวที่เป็นข้อสันนิษฐานให้ประชาชนได้รับรู้และได้ประโยชน์ จากการเข้าชมพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งการถ่ายทอดเรื่องราวนี้เป็นกระบวนการต่อยอดจากการวิจัย ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการ มาผสมผสานกับการจัดแสดง ทำให้การนำเสนอเข้าถึงผู้ชมได้ง่ายและชัดเจนขึ้น

            ในกรณีที่พิพิธภัณฑสถานนั้นเป็นพิพิธภัณฑสถานศิลปะสมัยใหม่ หรือหอศิลป์ ภัณฑารักษ์ก็มีกระบวนการที่คล้ายคลึงกัน คือ ต้องคัดสรรงานของศิลปินที่มีคุณค่า โดยมีการนำเสนอแนวความคิดของศิลปินนั้นๆ ที่ชัดเจน และเห็นแนววิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะสะท้อนภาพของสังคมออกมาเช่นเดียวกัน



การจัดแสดงนิทรรศการถาวร นำเสนอวัตถุพิพิธภัณฑ์ชิ้นสำคัญ ทำให้เกิดความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้เข้าชม

๕. การจัดแสดง

            คือ การให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่ง ของวิวัฒนาการมนุษย์ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราว ผ่านหลักฐานทั้งหมด ที่มีอยู่ไปในการจัดแสดง ที่เรียกกันว่า "นิทรรศการ"



การจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว จัดขึ้นเฉพาะช่วงเวลา

            นิทรรศการ หมายถึง การนำเสนอเรื่องราวตามหัวข้อที่ได้กำหนดไว้ ด้วยการใช้วัตถุ สิ่งของ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามาจัดแสดง ร่วมกับโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ เช่น ภาพถ่าย ลายเส้น การจัดฉากจำลอง การใช้สี แสง-เงา เพื่อเสริมให้เกิดภาพที่เข้าใจง่ายขึ้น โดยมีป้ายคำบรรยายประกอบ ซึ่งป้ายคำบรรยายเหล่านั้น อาจมีหลายขนาด ขึ้นอยู่กับความสำคัญของข้อมูล เพื่อให้กำหนดขั้นตอน การเข้าชมได้ โดยมีบุคลากร ที่รับผิดชอบขั้นตอนนี้ คือ มัณฑนากรหรือนักออกแบบนิทรรศการ ที่ต้องสามารถสื่อสาร เข้าใจกับภัณฑารักษ์ผู้เป็นเจ้าของเนื้อหาได้เป็นอย่างดี และต้องเคารพในเรื่องราว ที่จะนำเสนอ เน้นที่จะทำให้การสื่อสาร ในการเล่าเรื่องเกิดความสมบูรณ์แบบ แต่ก็ต้องมีความสวยงาม และน่าสนใจในเวลาเดียวกันด้วย การจัดแสดงนิทรรศการ ในพิพิธภัณฑสถาน มีอยู่ ๒ แบบคือ

ก. นิทรรศการถาวร

            หมายถึง นิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราวที่เป็นภารกิจหลักของพิพิธภัณฑสถานด้วยวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งเป็นวัตถุพิพิธภัณฑ์ชิ้นสำคัญ ของพิพิธภัณฑสถานนั้น รูปแบบการจัดแสดงต้องสัมพันธ์กันทั้งพิพิธภัณฑสถาน ดังนั้น จึงไม่ใช้แนวทางการจัดแสดงที่ทำให้เก่าเร็ว และผู้เข้าชมเบื่อง่าย ต้องเป็นการจัดแสดงที่สามารถอยู่ได้ในระยะเวลานานพอสมควร โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะให้ผู้เข้าชมรับรู้เรื่องราวและตื่นตาตื่นใจกับวัตถุพิพิธภัณฑ์ชิ้นเยี่ยมของพิพิธภัณฑสถาน ที่ได้รับการอนุรักษ์ และเก็บรวบรวมไว้เป็นอย่างดี

ข. นิทรรศการชั่วคราว

            หมายถึง นิทรรศการที่จัดแสดงเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่มีข้อมูลการค้นคว้าใหม่ หรือเมื่อมีวัตถุพิพิธภัณฑ์ชิ้นใหม่เข้ามา เป็นสมบัติพิพิธภัณฑสถาน ลักษณะของการจัดแสดงเปิดโอกาสให้ใช้รูปแบบที่ทันสมัยได้ มีการใช้สื่อโสตทัศนูปกรณ์ประกอบ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้เข้าชมได้อย่างมีอิสระมากขึ้น และเป็นนิทรรศการที่ไม่คงอยู่นาน เพราะจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับเฉพาะหัวข้อที่จัดขึ้นเฉพาะช่วงเวลา หรืออาจเป็นนิทรรศการที่ขอยืมมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งอื่น



การจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราว จัดขึ้นเฉพาะช่วงเวลา

๖. การบริการการศึกษา

            ปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานมีบทบาทในการให้การศึกษาแก่คนในสังคมที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากมุ่งเน้นในเรื่องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของมวลมนุษย์มาเป็นระยะเวลานาน ศักยภาพของพิพิธภัณฑสถานในด้านข้อมูลและหลักฐานที่ภัณฑารักษ์ประมวลขึ้นมา เพื่อถ่ายทอดเป็นนิทรรศการนั้น ล้วนเป็นส่วนเสริมสร้างความรู้ที่เข้มแข็งให้แก่ศาสตร์สาขาต่างๆ  นวัตกรรมหลายรูปแบบเกิดขึ้นด้วยแรงบันดาลใจและต้นแบบ จากวัตถุในพิพิธภัณฑสถานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานหัตถศิลป์ การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

            เมื่อสังคมสนับสนุนให้เกิดการศึกษาที่เท่าเทียมกัน พิพิธภัณฑสถานจึงเป็นสถาบันที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามอัธยาศัย คนทุกระดับในสังคมสามารถเข้ามาใช้พิพิธภัณฑสถานเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ พิพิธภัณฑสถานจึงได้เพิ่มบทบาท ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้สมบูรณ์แบบ ด้วยการเพิ่มการนำชม มีเอกสารประกอบการชม มีกิจกรรมเสริมสำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส เพื่อเป็นการบริการทางการศึกษาเพิ่มขึ้นมา โดยมีเจ้าหน้าที่ด้านบริการการศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ จะมีพื้นความรู้ในด้านการเรียนการสอนเป็นผู้ดูแล มีภัณฑารักษ์เป็นผู้แนะนำ

๗. การรักษาความปลอดภัย

            วัตถุพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มักเป็นสิ่งของที่มีคุณค่าในตัวเอง ทั้งในด้านคุณค่าที่เป็นทรัพย์สิน รวมทั้งคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่หาไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น จึงต้องดูแลรักษาไว้ให้ปลอดภัยจากการเสื่อมสภาพและภัยธรรมชาติ ต้องอาศัยหลักการอนุรักษ์จากนักอนุรักษ์ ส่วนความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติต้องอาศัยทั้งนักอนุรักษ์ นักออกแบบและภัณฑารักษ์ ที่มีความรู้ในเรื่องพิบัติภัย เพื่อจะได้วางแผนการออกแบบที่มีระบบการป้องกันในเรื่องของแผ่นดินไหว อุทกภัย หรืออัคคีภัย และการติดตั้งระบบการตรวจจับสัญญาณต่างๆ เช่น เครื่องดักควัน เครื่องดับเพลิง โจรภัย พิพิธภัณฑสถาน จึงต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพิพิธภัณฑสถาน ไว้ดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องโจรภัย โดยการมีพนักงานดูแลประจำห้องจัดแสดง และติดตั้งระบบการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เข้าชม เช่น สัญญาณกันขโมย โทรทัศน์วงจรปิด 
หัวข้อก่อนหน้า