ประวัติความเป็นมาของพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย
หลักฐานเรื่องของการสะสมสิ่งต่างๆ มีปรากฏให้เห็นในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งจากการขุดค้น ทางโบราณคดี พบว่า โครงกระดูกในหลุมฝังศพมีโบราณวัตถุที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้ฝังรวมอยู่กับผู้ตาย และบนร่างกายของผู้ตาย ก็สวมใส่เครื่องประดับ จากการศึกษาวิเคราะห์สิ่งของเหล่านี้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า สิ่งของหลายชนิดโดยเฉพาะเครื่องประดับ ถือเป็นของสะสมส่วนตัวของผู้ตาย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า แนวคิดในการสะสมสิ่งของซึ่งเป็นพื้นฐาน ที่ทำให้เกิดเป็นพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หรือกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว
แนวคิดในเรื่องการสะสม เพื่อการพัฒนาสังคมมาปรากฏในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังไม่ทรงขึ้นครองราชย์และยังทรงผนวช เมื่อเสด็จฯ ไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทรงรวบรวมสิ่งของไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นโบราณวัตถุและศิลปวัตถุ ตลอดจนวัตถุทางธรรมชาติวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา และวัตถุสิ่งของ ที่นานาชาตินำมาถวาย เพื่อเจริญพระราชไมตรี โปรดเกล้าฯ ให้นำสิ่งของสะสมเหล่านั้น มาจัดแสดงให้ทูตานุทูต พระราชอาคันตุกะ และข้าราชบริพาร ได้ชม ณ พระที่นั่งราชฤดี ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๐๒ โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพระที่นั่งขึ้นเพื่อการนี้ โดยเฉพาะ และพระราชทานนามว่า "พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์" เป็นการวางรากฐาน งานพิพิธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตามลักษณะ ของพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ที่แสดงให้เห็นทั้งศักดิ์และศรีของคนไทย และประเทศไทยได้อย่างดีเลิศ
"มิวเซียม" ณ หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ตั้งอยู่ที่ส่วนหน้าของพระบรมมหาราชวัง ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ เรียกว่า "มิวเซียม" ซึ่งเป็นการเรียกทับศัพท์ชื่อภาษาอังกฤษ และเปิดให้ประชาชนได้เข้าชม ทำให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น และมีโอกาสเรียนรู้ไปด้วย พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ จึงถือเป็นพิพิธภัณฑสถาน สำหรับสาธารณชนแห่งแรกของคนไทย
จากแนวพระราชดำริในเรื่องการจัดแสดงที่ "มิวเซียม" ได้ขยายไปสู่การเผยแพร่เรื่องราวที่เกี่ยวกับชาติบ้านเมือง ในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งต่างๆ ที่มีศักยภาพเหนือประเทศอื่นๆ เช่น ทรัพยากรป่าไม้ พืชไร่ สวนสมุนไพร เป็นการจัดนิทรรศการที่เรียกว่า "เอ็กซิบิชัน" (Exhibition) ณ ท้องสนามหลวง โดยให้ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ นำผลิตผล และผลิตภัณฑ์ มาจัดแสดงทำนองเดียวกับการจัดแสดงสินค้าในปัจจุบัน ทำให้หลายประเภทกลายเป็นสินค้าที่ส่งออกไปจำหน่าย ในต่างประเทศ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
การจัดแสดง "เอ็กซิบิชัน" (Exhibition) ณ ท้องสนามหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๕
รัชกาลที่ ๕ ยังโปรดเกล้าฯ ให้ส่งนิทรรศการด้านศิลปะและธรรมชาติที่ว่านี้ไปร่วมจัดแสดงในงานนิทรรศการจากนานาชาติ ณ หลายประเทศในยุโรปหลายครั้ง ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างชาติอย่างแพร่หลาย ถือเป็นการใช้แนวคิด ของการดำเนินงานด้าน "พิพิธภัณฑสถาน" มาพัฒนาและสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดสัมฤทธิผล
พระราชวังบวรสถานมงคล สถานที่จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร
ซึ่งย้ายมาจากหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวัง ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ใน พ.ศ. ๒๔๓๐ พิพิธภัณฑสถานจากหอคองคอเดียย้ายมาที่พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ "วังหน้า" เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าชมได้สะดวกขึ้น เปิดให้บริการสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง มีผู้บริหารจัดการ และมี "กุเรเตอร์" ซึ่งเรียกทับศัพท์ คำในภาษาอังกฤษว่า Curator ปัจจุบันใช้คำว่า "ภัณฑารักษ์" ทำหน้าที่ในด้านการจัดทำเอกสารประกอบการเข้าชม ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงฟื้นฟูและพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล ให้สามารถจัดแสดงโบราณวัตถุที่เก็บรักษา เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทศิลปะและโบราณคดี มีศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ (George Coedés) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ช่วยในด้านวิชาการ เป็นพิพิธภัณฑสถานในรูปแบบ สถาบันพิพิธภัณฑสถานรุ่นใหม่ มีการบริหารจัดการมุ่งส่งเสริมความรู้ที่แท้จริงมากขึ้น พิพิธภัณฑสถานได้ดำเนินการจนเสร็จสมบูรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จฯ ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานรูปแบบใหม่ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร" ต่อมาได้ขยายกิจการไปยังส่วนภูมิภาค
การจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลประกาศตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร" อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๗๗ และพระราชบัญญัติว่าด้วยโบราณสถาน ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ และการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๘๖ นับเป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานด้านพิพิธภัณฑสถาน ที่เป็นรูปแบบปัจจุบัน ของประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา พระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ ได้มีการปรับเป็น "พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔" กำหนดให้เรียกพิพิธภัณฑสถานทุกแห่งที่อยู่ในความดูแล ของกรมศิลปากรเป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ"
ต่อมากรมศิลปากรได้เริ่มมีการดำเนินงานโบราณคดีในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ได้จากการขุดค้น ทางโบราณคดีจึงนำมาจัดเก็บและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แหล่งโบราณคดีหลายแห่ง ก็พัฒนาจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำแหล่งโบราณคดี เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และยังมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประจำแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุรินทร์
การดำเนินงานตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๗ นับจากรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน ที่ศาลาสหทัยสมาคมเป็นครั้งแรก จนบัดนี้เป็นเวลากว่า ๑๔๐ ปี รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๑๙ กันยายนของทุกปีเป็น "วันพิพิธภัณฑ์ไทย"
กิจการพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยได้พัฒนาขยายเครือข่ายออกไปกว้างขวางมากในปัจจุบัน มีพิพิธภัณฑสถานเกิดขึ้นหลายประเภท ทั้งพิพิธภัณฑสถานของรัฐ เอกชน และส่วนบุคคล โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่ได้กระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ ในหลายกระทรวง ทบวง กรม ทำให้เกิดเป็นพิพิธภัณฑสถานซึ่งครอบคลุมทุกสาขาของศิลปวิทยาการ เช่นเดียวกับการพัฒนากิจการพิพิธภัณฑ์ในโลก ทั้งในสาขาศิลปะ วัฒนธรรม ธรรมชาติวิทยา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และพิพิธภัณฑสถานเฉพาะเรื่อง และได้เพิ่มบทบาท ในการพัฒนาสังคม ทั้งในการเป็นสถาบันเพื่อความมั่นคง เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยว