ทำไมจึงต้องมีการชลประทานในประเทศไทย
ในบรรดางานพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในกิจการด้านต่างๆ นั้น การพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการชลประทานจัดว่า เป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์มากด้านหนึ่ง ในการช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยให้เกษตรกรอันเป็นประชากรสวนใหญ่ของประเทศ ได้มีหลักประกันในเรื่องน้ำ สำหรับทำการเพาะปลูกอย่างไม่ขาดแคลน
นาข้าว
ในเขตโครงการชลประทาน
ปัจจุบันยังมีพื้นที่เพาะปลูกอีกเป็นจำนวนมาก ที่ต้องอาศัยน้ำฝน และน้ำจากแม่น้ำลำธารเป็นหลัก เพราะยังไม่มีงานด้านชลประทานเข้าไปช่วยเหลือ การเพาะปลูก ซึ่งได้อาศัยน้ำธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวนั้น จะทำให้พืชไม่อาจได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ ตามจำนวนที่พืชต้องการได้ กล่าวคือ ในปีใดที่ฝนตกโดยเฉลี่ยดีตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ก็จะทำให้การเพาะปลูกในปีนั้น ได้รับผลดีตามไปด้วย แต่ถ้าหากปีใดมีฝนตกน้อยหรือไม่มีฝนตกในเวลาที่พืชต้องการ ก็จะทำให้การเพาะปลูกในปีนั้นได้รับความเสียหาย หรือไม่ได้รับผลผลิตดีเท่าที่ควร จึงเป็นเหตุให้เกษตรกรจำนวนมาก ที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในเขตโครงการชลประทาน ต้องได้รับความเดือนร้อนในเวลาไม่มีน้ำสำหรับทำนา และปลูกพืชไร่อยู่เสมอเกือบทุกปี
สภาพของฝนในประเทศไทย ฝนที่ตกส่วนใหญ่จะมาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และจากพายุหมุน ซึ่งเป็นพายุจรพัดมาทางทิศตะวันออก ได้แก่ พายุไต้ฝุ่น พายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชั่น โดยฝนจะตกในระหว่างเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม เป็นระยะเวลาถึง ๖ เดือน นอกจากช่วงเวลาดังกล่าวนี้ บางเดือนอาจมีฝนตกบ้างเล็กน้อย หรือไม่มีฝนตกเลยก็ได้ เว้นแต่ทางภาคใต้ จะมีฝนตกชุก ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงเดือนมกราคม
นาข้าวที่อยู่นอกเขตโครงการชลประทาน ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอุทกภัย
โดยปกติ ฝนที่มาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะเริ่มตกประมาณเดือนพฤษภาคม และจะตกปกคลุมเกือบทั่วประเทศตามทิศทางที่ลมพัดผ่าน จนถึงเดือนกันยายนจึงเริ่มน้อย ลง และหมดไปประมาณเดือนตุลาคม สำหรับฝนจากลมมรสุม ที่ตกระหว่างเดือนพฤษภาคม และเดือนมิถุนายน เป็นฝนต้นฤดูกาลเพาะปลูกข้าวประจำปี ซึ่งชาวนาจะเตรียมเพาะกล้าแล้วเริ่มปักดำ ในบางปีที่เป็นปีฝนแล้ง อาจไม่มีฝนตกหรืออาจจะตกน้อยมาก จึงเป็นเหตุให้การเพาะปลูกได้รับความเสียหายอยู่บ่อยๆ ส่วนฝนที่เกิดจากพายุจร ส่วนใหญ่มักมีปริมาณไม่ค่อยแน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแรงและจำนวนของพายุที่จะพัดผ่าน เข้ามา บางปีอาจมีฝนจากพายุประเภทนี้น้อย แต่บางปีอาจมีมากเกินไป จนถึงกับเกิดอุทกภัยทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกได้
ต้นข้าวนอกเขตโครงการชลประทาน ได้รับความเสียหายเนื่องจากฝนแล้ง
ฝนที่เกิดจากพายุจรมักเริ่มตกในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณเดือนมิถุนายน ครั้นถึงเดือนกรกฎาคม แนวทางของพายุจะเลื่อนไปอยู่ในแนวเหนือประเทศไทย ดังนั้น ในช่วงเดือนนี้ จึงมักจะมีฝนตกน้อยหรือ อาจไม่มีเลยก็ได้ ทำให้เกิดสภาวะฝนแล้งในระหว่างฤดูฝน ซึ่งฝนไม่ตกหรือตกทิ้งช่วงเป็นเวลานานเป็นประจำเกือบทุกปี โดยสภาพฝนแล้ง หรือทิ้งช่วงดังกล่าว อาจจะเกิดขึ้นประมาณ ๒-๔ สัปดาห์ ทำให้พืชไร่ และต้นข้าวเล็กๆ ในบางท้องที่ ซึ่งอยู่นอกเขตโครงการชลประทาน ได้รับความเสียหาย
ครั้นถึงเดือนสิงหาคม พายุจรจะมีแนวพัดผ่านเข้ามาใน ประเทศไทยอีก แล้วจะมีแนวร่นต่ำลงมาทางภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน สำหรับในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีฝนตกหนักมากเกินความต้องการ จนเหลือน้ำไหลลงสู่ลำธารและแม่น้ำ จนบางปีถึงกับเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรง ครั้นถึงเดือนตุลาคม ฝนซึ่งเกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมจะหมดไป และแนวของพายุจรที่พัดผ่านประเทศไทยจึงจะร่นต่ำลงไปทางทิศใต้มากขึ้น ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่มีฝนตกอีก แต่ภาคกลางอาจจะยังมีฝนตกบ้างเล็กน้อย ส่วนภาคกลางตอนล่างลงไป จะเริ่มมีฝนตกหนักขึ้น แล้วตกมากขึ้น ร่นไปทางภาคใต้ จนถึงเดือนมกราคม ฝนทางแถบภาคใต้จึงเริ่มน้อยลง
จากสถิติน้ำฝนของแต่ละปีที่วัดได้ทั่วประเทศ แสดงว่า เวลาและปริมาณฝนที่ตกในระหว่างฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลเพาะปลูกประจำปี ของแต่ละท้องถิ่นนั้น มักจะมีความแตกต่างกันไป บางท้องที่อาจจะมีจำนวนฝน และเวลาที่ฝนตก พอเหมาะกับความต้องการของพืชเสมอ ก็ไม่จำเป็นต้องมีการชลประทานช่วยเหลือ เช่น บางจังหวัดในภาคใต้ และภาคตะวันออกของอ่าวไทย ส่วนพื้นที่เพาะปลูกของภาคอื่น โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีปริมาณฝน รวมในช่วงฤดูฝนมากเช่นกัน แต่จำนวนฝนที่ตกในแต่ละครั้ง ระยะเวลาของฝนที่ตก และการแพร่กระจายของฝนไปให้ทั่ว บริเวณพื้นที่เพาะปลูกนั้น มักจะไม่ค่อยมีความเหมาะสมกับความต้องการของพืชที่ปลูกนัก เช่น อาจมีฝนครั้งหนึ่ง แล้วเว้นระยะ ไม่ตกไปอีกนาน หลังจากนั้นฝนอาจตกติดต่อกันหลายวัน จนมีน้ำมากเกินกว่าพื้นที่เพาะปลูกต้องการ ทำให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากขาดแคลนน้ำในตอนแรก แล้วมีน้ำมากเกินไปติดตามมาด้วย ในท้องที่เช่นนี้ เมื่อมีการชลประทานแล้วก็จะแก้ไข ปัญหาต่างๆ ให้หมดไปได้