เล่มที่ 7
การชลประทาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การทดน้ำ

            หมายถึง การยกน้ำที่มีมาในแหล่งน้ำ ให้มีระดับสูงพอที่จะส่งเข้าคลองส่งน้ำได้ ด้วยอาคารที่สร้างขวางทางน้ำ การทดน้ำจะได้ผลเฉพาะแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลเท่านั้น โดยอาคารที่สร้างขวางทางน้ำจะทำหน้าที่กักกั้นน้ำที่ไหลมาไว้ไม่ให้ผ่านไปได้ จนกว่าจะถูกทดให้เอ่อท้นขึ้นสูงพอกับความต้องการเสียก่อน จากนั้นจะสามารถส่งเข้าคลองส่งน้ำตามปริมาณที่ต้องการได้ ซึ่งถ้าหากมีน้ำไหลมาในทางน้ำมากเกิน ไป จนมีเหลือจากการส่งเข้าไปใช้ เพื่อการเพาะปลูกแล้ว ก็จะระบายให้ไหลล้นข้ามอาคารทดน้ำไปได้เองโดยอัตโนมัติ หรือระบายผ่านอาคารทดน้ำไปโดยตรงอย่างใดอย่างหนึ่ง

            สำหรับโครงการชลประทาน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่พอสมควร จะต้องยกน้ำให้มีระดับสูง แล้วส่งน้ำจำนวนมากๆ เข้าไปยังพื้นที่เพาะปลูก การยกน้ำโดยวิธีการทดน้ำน่าจะเป็นวิธีการที่สะดวก และได้ผลดีกว่าวิธีอื่นๆ

            บางท้องที่อาจจะมีทางน้ำ ซึ่งในฤดูกาลเพาะปลูกน้ำที่ไหลมามีระดับสูงมากพอที่จะไหลเข้าคลองส่งน้ำ หรือไหลเข้าไปในพื้นที่เพาะปลูกได้เองตามจำนวนที่ต้องการได้ตลอดเวลา สำหรับกรณีเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างอาคาร เพื่อการทดน้ำขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่ขุดคลองจากทางน้ำ หรือแม่น้ำเข้าไปสู่บริเวณที่ทำการเพาะปลูกเท่านั้น น้ำก็จะไหลเข้าคลองส่งน้ำไปได้ ลักษณะของการชลประทานที่รับน้ำจากแม่น้ำลำคลองได้โดยตรงเช่นนี้ เรียกว่า "การชลประทานรับน้ำนอง" วิธีนี้จะได้ผลก็เฉพาะในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ลุ่มและแบนราบ เช่น ในพื้นที่บริเวณทุ่งราบภาคกลางตอนใต้ ซึ่งมีคลองรังสิตรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นจะมีคลองแยกอีกหลายสาย เพื่อรับน้ำจากคลองรังสิตสำหรับแจกจ่ายไป จนทั่วพื้นที่เพาะปลูกอีกต่อหนึ่ง เป็นต้น