เล่มที่ 7
การชลประทาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แหล่งน้ำ

            น้ำฝนเป็นต้นกำเนิดของน้ำที่ปรากฏบนผิวโลก เมื่อฝนตกลงมาบนพื้นดิน จะมีน้ำบางส่วนขังอยู่บนผิวดิน และบางส่วน ซึมลงไปสะสมอยู่ในดิน ทำให้เกิดเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติในดิน ที่อำนวยประโยชน์ให้กับพืชได้โดยตรง เมื่อมีฝนตกมาก น้ำไม่สามารถจะขังอยู่ได้บนผิวดิน และซึมลงไปในดินได้ทั้งหมด ก็จะเกิดเป็นน้ำไหลนองไปบนผิวดิน จากนั้นจะไหลลงสู่ที่ลุ่ม ที่ต่ำ ลำน้ำ ลำธาร แม่น้ำ แล้วจึงไหลลงสู่ทะเล และมหาสมุทรต่อไป

            น้ำในดิน และน้ำที่ขังอยู่บนผิวดินที่ได้มาจากฝนโดยตรงนั้น จะมีอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอได้ ก็ต้องอาศัยจากฝน ที่ตกลงมาอย่างสม่ำเสมอด้วย เช่นกันหากฝนไม่ตกก็จำเป็นต้องมีน้ำจากแหล่งน้ำอื่นมาเพิ่มเติมให้ โดยธรรมชาติ หรือโดยวิธีการชลประทาน พืชจึงจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอกับความต้องการ

            แหล่งน้ำที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการชลประทานได้แก่ แหล่งน้ำบนผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ผิวดิน

แหล่งน้ำบนผิวดิน

            แม่น้ำลำธาร ห้วย หนอง คลองและบึง ฯลฯ เป็นแหล่งน้ำบนผิวดิน เป็นแหล่งรวบรวมน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากน้ำที่ไหลมาบนผิวดิน และบางส่วนซึมออกมาจากดิน เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่จะอำนวยให้ทำการชลประทานขนาดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ปริมาณน้ำที่จะมีในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำธารนั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า มีฝนตกในเขตของลุ่มน้ำนั้นหรือไม่ หรือว่าตกจำนวนมากน้อยเพียงไร บางวันอาจมีน้ำไหลมาในลำน้ำมาก เพราะเกิดฝนตกหนัก และอาจมีระดับสูง ไหลล้นเข้าไปท่วมเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูกได้เองตามธรรมชาติ ส่วนในระยะฤดูแล้ง ไม่มีฝนตกเลย น้ำในแหล่งน้ำประเภทบ่อหนองและบึง ซึ่งได้เก็บน้ำ ในช่วงฤดูฝนไว้นั้น อาจมีน้ำให้ใช้พอบรรเทาความ เดือดร้อนได้บ้าง แต่น้ำในแม่น้ำ ลำธาร และห้วยบางแห่งอาจมีน้ำไหลลดน้อยลงไป หรือไม่มีเลยก็ได้

            การจัดทำโครงการชลประทานได้นั้น จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำ เพื่อให้เป็นต้นน้ำของโครงการชลประทาน ถ้าพื้นที่เพาะปลูกไม่มีแหล่งน้ำใดๆ ให้นำมาใช้ได้ ก็ไม่สามารถทำการชลประทานช่วยเหลือได้ หรือแหล่งน้ำมีปริมาณน้อย ก็ย่อมช่วยเหลือพื้นที่ได้น้อยด้วยเช่นกัน

การจัดทำโครงการชลประทานจำเป็นต้องมีแหล่งน้ำ

            ในการวางโครงการชลประทาน โดยใช้น้ำจากแม่น้ำ ลำธาร ห้วย หนอง คลอง และบึง ฯลฯ นั้น จำเป็นต้องรวบรวม สถิติ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำของแหล่งน้ำนั้นๆ ให้ละเอียด ถี่ถ้วนเสียก่อน เพื่อประกอบการพิจารณาและการตัดสินใจ ในการวางรูปงานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เช่น จำเป็นต้อง ยกน้ำจากแหล่งน้ำนั้นหรือไม่ หรือจะต้องยกน้ำให้มีระดับสูง ด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสม จำเป็นต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อทำ ให้เป็นแหล่งน้ำที่ถาวรด้วยหรือไม่ ตลอดจนการกำหนดขนาด ของพื้นที่เพาะปลูก ที่จะรับน้ำชลประทานให้พอเหมาะกับจำนวน น้ำของแหล่งน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด เป็นต้น

            แหล่งน้ำธรรมชาติอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งให้น้ำสำหรับทำการ ชลประทานได้ คือ แหล่งน้ำใต้ผิวดินในท้องที่ ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำบนผิวดินนั้น มนุษย์รู้จักการนำน้ำจากแหล่งน้ำใต้ผิวดินขึ้นมา ใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการอุปโภคบริโภค และสำหรับใช้เพาะปลูกมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

แหล่งน้ำใต้ผิวดิน

            น้ำที่มีอยู่ใต้ผิวดิน ได้มาจากน้ำฝนที่ตกแล้วซึมผ่านลง ไปสะสมอยู่ในช่องว่างของชั้นดิน ทราย และกรวด ตลอดจนรอยแตก และโพรงของหินที่อยู่ใต้ผิวดินนั้น เมื่อขุดบ่อลงไปจน ถึงชั้นที่มีน้ำสะสมอยู่ เช่น ชั้นทรายและกรวด ซึ่งน้ำไหลผ่านได้ดี เวลาใดที่นำน้ำขึ้นไปใช้ ทำให้ระดับน้ำในบ่อลดลง ก็จะมี น้ำไหลเข้ามาแทนที่อยู่เสมอ บ่อน้ำที่ใช้สำหรับการชลประทาน จะมีขนาดที่เหมาะสมอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของชั้นทราย หรือชั้นกรวดที่เป็นแหล่งสะสมน้ำ และปริมาณน้ำที่ต้องการใช้งานเป็นหลัก แต่โดยทั่วไปแล้วบ่อน้ำใต้ดินแห่งหนึ่งๆจะช่วย พื้นที่เพาะปลูกได้ไม่มากนัก