เล่มที่ 7
การชลประทาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เขื่อนระบายน้ำ

            เป็นอาคารทดน้ำ หรือเขื่อนทดน้ำที่ต้นน้ำของโครงการชลประทานอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งสร้างขวางลำน้ำ สำหรับทดน้ำที่ไหลมา ให้มีระดับสูง จนสามารถส่งเข้าคลองส่งน้ำได้ตามปริมาณที่ต้องการในฤดูกาลเพาะปลูก เช่นเดียวกับฝาย แต่เขื่อนระบายน้ำ จะระบายน้ำผ่านเขื่อนไปได้ตามปริมาณที่กำหนด โดยไม่ยอมให้น้ำไหลล้นข้ามเหมือนฝาย และเมื่อเวลาน้ำหลากมาเต็มที่ในฤดูฝน เขื่อนระบายน้ำนี้ยังสามารถระบายน้ำให้ผ่านไปได้ทันที

            อาคารของเขื่อนระบายน้ำมีลักษณะเป็นช่องๆ สำหรับให้น้ำไหลผ่านไปได้ โดยตลอดความยาวของเขื่อน แบ่งด้วยตอม่อเขื่อนระบายน้ำแต่ละแห่ง จะมีจำนวนกี่ช่อง และกว้างช่องละเท่าไรนั้น ย่อมแล้วแต่ปริมาณน้ำสูงสุดที่มีมาในลำน้ำ ซึ่งจะต้องไหลผ่านไปได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ล้นข้ามเขื่อน และไม่ทำให้ระดับน้ำด้านหน้าของเขื่อน ท่วมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำมากเกินไป

            ที่ช่องระบายน้ำของเขื่อนทุกช่องจะมีบานประตูเปิดไว้ระหว่างตอม่อ บานประตูทุกบานสามารถยกขึ้น และหย่อนลงได้ทุกระดับ ตามต้องการ เมื่อไม่ต้องการให้น้ำไหลผ่านเขื่อน ก็หย่อนบานประตูลงปิดสนิทที่พื้นธรณีของเขื่อนได้ และเมื่อต้องการระบายน้ำผ่านเขื่อน ก็ยกบานประตูขึ้นจากพื้นธรณีเขื่อนให้น้ำไหลลอดบานประตูไป น้ำจะไหลผ่านได้น้อย ถ้ายกบานประตูขึ้นเล็กน้อย ในกรณีที่มีน้ำไหลมามาก และต้องการระบายน้ำผ่านเขื่อนเต็มที่ ก็สามารถยกบานประตูบานให้สูงขึ้นพ้นระดับน้ำได้ บานประตูของเขื่อนระบายน้ำ ส่วนมากทำด้วยเหล็กมีรูปร่างต่างๆ กัน เช่น บานรูปสี่เหลี่ยมตั้งตรง และบานสี่เหลี่ยมรูปโค้ง
เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท
            เขื่อนระบายน้ำทุกแห่งจะต้องสร้างให้มีลักษณะที่มั่นคง และถาวร การที่จะสร้างให้ใช้งานได้เพียงชั่วคราว โดยใช้วัสดุก่อสร้างอะไรก็ได้นั้น ไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างเขื่อนระบายน้ำ ด้วยวัสดุที่มีความคงทนถาวรเป็นหลัก เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก อีกทั้งจะต้องมีการออกแบบโดยใช้หลักวิชาการอย่างถูกต้อง และมีวิธีการก่อสร้างที่ประณีตมากด้วย

            แม้ว่าเขื่อนระบายน้ำมีลักษณะไม่ทึบตันเหมือนฝาย แต่ ตัวเขื่อนก็ต้องมีน้ำหนักรวมมากพอที่จะต้านแรงดันของน้ำ อันเกิดจากความสูงของน้ำที่ถูกทดอัดไว้ ไม่ให้เขื่อนล้มและเลื่อน ถอยไป โดยแรงดันของน้ำที่กระทำกับเขื่อน มาจากแรงดันของน้ำที่กระทำกับบานประตูแล้วบานประตูถ่ายแรงทั้งหมดให้แก่ ตอม่อสองด้าน โดยที่ตอม่อจะถูกสร้างให้ยึดแน่นกับพื้นล่างของเขื่อน ซึ่งวางบนฐานรากเต็มลำน้ำ ดังนั้น ตอม่อทุกต้น และพื้นล่างของเขื่อน จึงต้องมีความหนาและขนาดให้ได้น้ำหนักรวมกัน มากพอที่จะต้านแรงดันของน้ำดังกล่าวนั้นได้

            เขื่อนระบายน้ำสามารถสร้างให้ทดน้ำได้สูง และทดน้ำได้ ทุกระดับตามต้องการ นอกจากนี้ ในเวลาน้ำหลากมามากเต็มที่ เขื่อนระบายน้ำยังสามารถระบายน้ำให้ผ่านไปได้ทันทีในปริมาณ ที่มากกว่าฝาย เมื่อเทียบกับฝายที่มีความยาวสำหรับให้น้ำเท่ากัน เขื่อนระบายน้ำส่วนใหญ่จึงมีราคาแพง แต่ก็มีความ เหมาะสมดีสำหรับทุกสภาพภูมิประเทศ โดยเฉพาะลำน้ำใน บริเวณทุ่งราบ เช่น ทุ่งราบภาคกลาง เป็นต้น

            ในกรณีเมื่อยกบานประตูทุกบานขึ้นพ้นระดับน้ำ เพื่อระบาย น้ำจำนวนมากที่สุดของลำน้ำให้ผ่านไป ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อน ความกว้างของช่องระบายน้ำรวมกันทั้งหมด และความสูงของ ระดับน้ำด้านหน้าเขื่อนถึงธรณีของเขื่อนที่รับบานประตู จะมีความสัมพันธ์กันตามสูตรการไหลของน้ำข้ามสันฝายดังที่กล่าว มาแล้ว