ประเภทของกิจการชลประทาน
กิจการหรือโครงการชลประทานที่จัดสร้างขึ้นโดยทั่วไปนั้น สามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น
๑. แบ่งประเภทตามลักษณะของการเป็นเจ้าของกิจการ
ดังต่อไปนี้
๑.๑ กิจการชลประทานส่วนบุคคล โดยมีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของ หรือจัดทำขึ้นเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกของตนแต่ผู้เดียว ได้แก่ การที่ชาวนาใช้ระหัดวิดน้ำเข้าแปลงเพาะปลุกของตน หรือการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในบริเวณพื้นที่ดินของตน เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก เป็นต้น
๑.๒ กิจการชลประทานในรูปของกลุ่มบุคคล หรือสหกรณ์โดยที่คณะบุคคล หรือสหกรณ์ ได้ร่วมมือกันทั้งทางด้านทุนทรัพย์ และแรงงานในการจัดสร้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่การเพาะปลูกในกลุ่มของตน เช่น กลุ่มชาวนาชาวไร่ในภาคเหนือร่วมมือกันสร้างฝาย เพื่อทดน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูก หรือการสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลอง ให้กับพื้นที่เพาะปลูกของบรรดาสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ เป็นต้น
๑.๓ กิจการชลประทานที่รัฐเป็นเจ้าของ และเป็นผู้ดำเนินการ ได้แก่ โครงการชลประทานทั่วๆ ไปที่รัฐจัดสร้างขึ้น โดยแต่ละโครงการจะมีขนาดกิจการตั้งแต่เล็กจนถึงขนาดใหญ่ ตามแต่สภาพภูมิประเทศของแต่ ละท้องที่ รวมทั้งปริมาณน้ำของแล่งน้ำในท้องที่ต่าง ๆ เหล่านั้นจะอำนวยให้
๒. แบ่งประเภทตามลักษณะของแรงที่ใช้นำน้ำ จากแหล่งน้ำที่เป็นต้นน้ำของโครงการชลประทาน ไปยังพื้นที่เพาะปลูก
ได้แก่
ท่อระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเข้าคลองส่งน้ำ
๒.๑ กิจการชลประทานประเภทอาศัยแรงดึงดูดของโลก ได้แก่ กิจการชลประทานที่มีงานทดน้ำที่แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นต้นน้ำของโครงการชลประทาน ให้มีระดับสูง แล้วส่งเข้าไปยังระบบน้ำ เพื่อแจกจ่ายน้ำไปจนทั่วเขตโครงการ ด้วยแรงที่เกิดจากการมีระดับน้ำต่างกันตามคลองส่งน้ำนั้น บางโครงการที่มีขนาดใหญ่ และต้องการน้ำมาก ก็อาจจะสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ ที่ต้นแหล่งน้ำ เพื่อเก็บสำรองน้ำไว้ โดยค่อยๆ ระบายลงมาให้อาคารทดน้ำที่อยู่ ด้านล่างตามความจำเป็น หรืออาจมีระบบคลองส่งน้ำ เชื่อมกับอาคารควบคุมน้ำที่ตัวเขื่อน รับน้ำออกจากเขื่อนเก็บกักน้ำ แล้วแจกจ่ายไปให้แก่พื้นที่เพาะปลูกโดยตรงก็ได้
๒.๒ กิจการชลประทานประเภทสูบน้ำ หรือใช้แรงอย่างอื่น ที่ไม่ได้เกิดจากแรงดึงดูดของโลก ได้แก่ กิจการชลประทาน ประเภทที่ใช้วิธีการยกน้ำที่แหล่งน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำ แล้วส่งไปตามท่อส่งน้ำที่วางเป็นแนวไปสู่พื้นที่เพาะปลูก ด้วยแรงที่เกิดจากเครื่องยนต์ เช่น การสูบน้ำเพื่อการชลประทานแบบฝนโปรย เป็นต้น กิจการชลประทานประเภทนี้ เหมาะสำหรับโครงการที่มีขนาดเล็ก หรือโครงการที่ไม่สามารถทำการชลประทานประเภท อาศัยแรงดึงดูดของโลกได้
โรงสูบน้ำขนาดใหญ่ สำหรับสูบน้ำขึ้นไปยังคลองส่งน้ำของโครงการชลประทาน
๒.๓ กิจการชลประทานประเภทสูบน้ำ หรือใช้แรงอย่างอื่นผสมกับการส่งน้ำ ด้วยระบบส่งน้ำ ที่อาศัยแรงดึงดูดของโลก ได้แก่ โครงการชลประทานประเภทใช้เครื่องสูบน้ำ ที่ส่งน้ำไปตามคลองส่งน้ำ หรือท่อส่งน้ำ โดยให้น้ำไหลไปเองด้วยแรงดึงดูดของโลก กิจการชลประทานประเภทนี้ เหมาะสำหรับโครงการที่มีขนาดเล็ก หรือโครงการที่ใช้วิธีการทด หรือเก็บกักน้ำที่ต้นน้ำ ของโครงการชลประทานไม่ได้
การแบ่งประเภทของกิจการหรือโครงการชลประทานตาม รูปแบบต่างๆ นั้น โดยทั่วไปแล้ว จะนิยมแบ่งประเภทตามรูปแบบของการใช้แรงเป็นหลัก และเรื่องของการชลประทานที่กำลังกล่าวถึง ในหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มนี้ ก็จะเป็นเรื่องของกิจการชลประทานประเภทที่อาศัยแรงดึงดูดของโลกเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นกิจการชลประทานที่รู้จักกันแพร่หลาย และนิยมสร้างกันทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่มีขนาดเล็ก หรือมีขนาดใหญ่ โดยจะกล่าวเฉพาะในสาระสำคัญทางด้านวิศวกรรมอย่างกว้างๆ