เขื่อนเก็บกักน้ำ เขื่อนที่สร้างปิดกั้นลำน้ำธรรมชาติระหว่างหุบเขา หรือเนินสูง เพื่อกักกั้นน้ำที่มีไหลมามากในฤดูฝนเก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อน ทำให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ เรียกว่า "เขื่อนเก็บกักน้ำ" น้ำที่เก็บกักไว้นี้ จะนำออกมาทางอาคารที่ตัวเขื่อนได้ทุกเวลา ที่ต้องการ โดยอาจระบายลงไปตามลำน้ำให้แก่เขื่อนทดน้ำที่สร้างอยู่ทางตอนล่าง หรืออาจส่งเข้าคลองส่งน้ำ สำหรับโครงการชลประทานที่มีคลองส่งน้ำรับน้ำจากเขื่อนเก็บกักนั้นโดยตรง | |||
อ่างเก็บน้ำของเขื่อนเก็บกักน้ำศรีนครินทร์ | |||
เขื่อนเก็บกักน้ำจะต้องสร้างทางบริเวณด้านเหนือของ โครงการชลประทานเสมอ ทำเลที่จะเหมาะสำหรับการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ มักจะมีเนินสูง หรือเนินเขาสองข้างลำน้ำอยู่ ใกล้กันมากที่สุด ซึ่งขนาดความสูงของเขื่อนจะกำหนดตามปริมาตรของน้ำ ที่ต้องการจะเก็บกักไว้ โดยจะต้องพิจารณาให้ เหมาะสมกับปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งปีที่ไหลลงมาตามลำน้ำ รวมทั้งจำนวนน้ำ ที่พื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในเขตโครงการชลประทาน นั้นจะต้องการใช้ในแต่ละปีด้วย เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างกันโดยทั่วไป มีหลายประเภท หลายขนาดแตกต่างกัน เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่บางแห่ง อาจจะให้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น การผลิตไฟฟ้า การชลประทาน การคมนาคม การบรรเทาอุทกภัย และการเพาะเลี้ยงปลา ในอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ซึ่งเรียกว่า "เขื่อนอเนกประสงค์" ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ที่จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และ เขื่อนอุบลรัตน์ ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น | |||
เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก | |||
สำหรับวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำนั้น สามารถสร้างได้ด้วยวัสดุประเภทต่างๆ เช่น คอนกรีตล้วน คอนกรีตเสริมเหล็ก ดินและหินถมอัดแน่น เป็นต้น เขื่อนเก็บกักน้ำทุกแห่งที่สร้างขึ้น จะกำหนด หรือเลือกให้เป็นเขื่อนประเภทใดนั้น ส่วนใหญ่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพของฐานราก สภาพของภูมิประเทศ ที่เขื่อนนั้นตั้งอยู่ ตลอดจนชนิด และจำนวนของวัสดุที่จะมีให้ใช้ก่อสร้างได้ โดยเขื่อนจะต้องมีทั้งความมั่นคงแข็งแรง และมีราคาถูกที่สุด เขื่อนคอนกรีต เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีต ส่วนใหญ่จะสร้างด้วยคอนกรีตล้วนซึ่งแบ่งออกได้ ๒ประเภท ดัง ต่อไปนี้ ประเภทที่ ๑ เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเป็นแนวตรง หรือโค้งเล็กน้อยขวางลำน้ำระหว่างหุบเขา มีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยม ที่มีฐานของเขื่อน กว้างไปตามลำน้ำ เขื่อนประเภทนี้จะต้องอาศัยน้ำหนักของตัวเขื่อนที่กดลงบนฐานรากในแนวดิ่ง สำหรับต้านแรงดันที่เกิดจากน้ำ ซึ่งเก็บกักทางด้านเหนือเขื่อนไม่ให้เขื่อนล้ม หรือเลื่อนถอยไป | |||
เขื่อนภูมิพล เป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง | ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ เขื่อนที่มีรูปโค้งเป็นส่วนของวงกลม สร้างขวางลำน้ำ ระหว่างหุบเขา โดยที่ปลายเขื่อนทั้งสองจะฝังแน่นไว้กับบริเวณลาดเขาทั้งสองข้าง เขื่อนที่โค้งเป็นส่วนของวงกลมนี้ จะสามารถรับแรงดันของน้ำ ที่กระทำกับตัวเขื่อนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะคอนกรีตทุกส่วนของตัวเขื่อน สามารถรับแรงกดได้เต็มที่ตามแนวโค้ง แล้วถ่ายแรงดันส่วนใหญ่ที่เกิดจากน้ำ ไปให้ลาดเขาที่ปลายเขื่อนสองข้างนั้น รับไว้อีกต่อหนึ่ง เขื่อนประเภทนี้ จึงไม่ต้องอาศัยน้ำหนักของเขื่อนเป็นหลัก ทำให้เขื่อนมีลักษณะบาง และสร้างได้อย่างประหยัด สำหรับเขื่อนที่มีความสูงมาก | ||
ทำเลที่จะสามารถสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีตได้จำเป็นต้องมีฐานรากเป็นหินที่แข็งแรง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของตัวเขื่อน และแรงดันของน้ำทั้งหมดไว้ได้ โดยที่ฐานรากจะต้องไม่ยุบตัวจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ตัวเขื่อน และนอกจากนี้ทำเล ซึ่งจะสร้างเป็นเขื่อนรูปโค้งได้นั้น ที่บริเวณลาดเขา ซึ่งรับปลายเขื่อนทั้งสองข้างจะต้องเป็นหินที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษด้วย อนึ่ง สำหรับที่จะเลือกเขื่อนเป็นประเภทใดนั้น จะต้องมีการวิเคราะห์ และพิจารณาอย่างละเอียดให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และสภาพของฐานรากว่า เขื่อนลักษณะใดจะมีราคาถูก และสร้างได้มั่งคงแข็งแรง กว่ากัน โดยทั่วไปแล้ว สำหรับเขื่อนรูปโค้ง แม้จะใช้คอนกรีตจำนวนน้อยกว่า แต่ก็มีความเหมาะสมที่จะสร้างในทำเลที่เป็นหุบเขาแคบและลึกเท่านั้น ส่วนเขื่อนประเภทต้านแรงดันน้ำด้วยน้ำหนักจะสร้างได้ดี ทั้งในภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาไม่ว่าจะแคบหรือกว้าง ตลอดจนทำเล ที่สภาพฐานรากไม่มั่นคงแข็งแรงพอ ที่จะสร้างเขื่อนรูปโค้งอีกด้วย ในการออกแบบ ส่วนใหญ่จะต้องคำนวณหาขนาดความ หนาของเขื่อนที่แต่ละระดับความสูงว่าควรมีความหนาเท่าใด จึงจะสามารถรับแรงดันน้ำของแต่ละความลึกนั้นได้ และสำหรับ เขื่อนประเภทที่อาศัยน้ำหนัก เมื่อคิดน้ำหนักรวมแล้วก็จะต้อง หนักมากพอที่จะต้านแรงดันของน้ำไม่ให้ล้มหรือเลื่อนได้ ส่วน ในด้านการก่อสร้าง ก็จะต้องดำเนินการให้มีความประณีตที่สุด ซึ่งตัวเขื่อนจะต้องฝังลึกลงไปในหินแกร่ง ให้มั่นคงทั้งที่ ฐานและบริเวณลาดเขาปลายเขื่อนทั้งสองข้างนั้น ส่วนคอนกรีต ของตัวเขื่อน ก็จะต้องมีส่วนผสมที่ดี และสร้างให้ได้คอนกรีต ที่แข็งแรงสม่ำเสมอตลอดกันทั่วทั้งเขื่อน เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีตแบบต้านแรงดันของ น้ำด้วยน้ำหนัก ได้แก่ เขื่อนกิ่วลม ซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำวังที่จังหวัดลำปาง เขื่อนเก็บกักน้ำรูปโค้งที่สร้างด้วยคอนกรีต ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่จังหวัดตาก เป็นต้น
นอกจากเขื่อนที่สร้างด้วยคอนกรีตล้วนดังกล่าวข้างต้น แล้ว บางแห่งอาจมีความเหมาะสมที่จะต้องสร้างเขื่อน ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะมีราคาถูกกว่า เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้าง ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กนี้ จะประกอบด้วย ตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็ก วางบนฐานรากห่างกันเป็นระยะๆ ตลอดแนวเขื่อน ลักษณะของตอม่อจะมีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยม ที่มีความหนาไม่มากนัก และมีลาดด้านอ่างเก็บน้ำเป็นมุมประมาณ๔๕ องศากับ แนวราบ โดยมีแผ่นพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กวางพาดระหว่างตอม่อ ตลอดแนวเขื่อน สำหรับทำหน้าที่กักกั้นน้ำ พื้นเอียงดังกล่าว จะฝังลึกลงไปในฐานรากแข็งตลอดแนวเขื่อน และรับแรงดันของน้ำในแนวราบกับน้ำหนักของน้ำที่กดบนพื้นเอียงนั้น จึงต้องออกแบบให้พื้นมีความหนา พร้อมกับมีเหล็กเสริมสำหรับรับแรงดึง ซึ่งเกิดในพื้นคอนกรีตนั้นอย่างเหมาะสม แรงที่กระทำกับพื้นเอียงทั้งหมด จะถูกรับไว้ด้วยตอม่อ ซึ่งจะกดลงบนฐานรากอีกต่อหนึ่ง จึงทำให้เขื่อนตั้งอยู่ได้ โดยไม่เลื่อน หรือล้ม เหมือนกับเขื่อนคอนกรีตล้วน ที่อาศัยน้ำหนักตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้แก่ เขื่อนตาดโตน ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เขื่อนดิน เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้น โดยการนำเอาดินมาบดอัดให้แน่นด้วยเครื่องจักรกล หรือแรงคน เขื่อนดินจะมีลักษณะทึบน้ำ หรือน้ำซึมผ่านเขื่อนได้ยาก และมีความมั่งคงแข็งแรงเช่นเดียวกับเขื่อนคอนกรีต | |||
เขื่อนเก็บกักน้ำ สร้างด้วยดินถมบดอัดแน่น (เขื่อนยางชุม) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ | |||
เรานิยมสร้างเขื่อนดินเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำ เพราะสามารถสร้างบนฐานรากได้เกือกทุกประเภท ไม่ว่าฐานรากนั้นจะเป็นหิน เป็นกรวด ทราย หรือเป็นดินที่ไม่เหมาะสำหรับเขื่อนคอนกรีต เขื่อนดินส่วนมากจะมีราคาถูก เพราะใช้วัสดุก่อสร้าง ที่มีอยู่ในบริเวณที่สร้างเขื่อน และบริเวณใกล้เคียงเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงไม่ต้องขนส่งวัสดุก่อสร้างมาจากที่อื่นมาก เหมือนกับการสร้างเขื่อนคอนกรีต เขื่อนดินบางแห่งสร้างด้วยดินที่มีลักษณะค่อนข้างเหมือนกันทั้งเขื่อน โดยใช้ดินที่มีดินเหนียว ผสมอยู่ด้วย เพื่อให้ตัวเขื่อนมีความทึบน้ำ หรือน้ำซึมผ่านได้ยาก แต่มีเขื่อนดินบางแห่งไม่ใช้ดินชนิดเดียวกันสร้าง จะสร้างด้วยดินทึบน้ำ ที่มีดินเหนียวผสมไว้ตรงกลาง แล้วหุ้มทับด้วยทราย กรวด และหินขนาดเล็กใหญ่ให้เป็นเปลือกหุ้มอยู่ด้านนอกทั้งสองด้าน เพื่อทำให้น้ำที่เพิ่มน้ำหนักให้กับเขื่อน และป้องกันดินส่วนตรงกลางไว้ การจะเลือกสร้างเขื่อนด้วยดินและวัสดุประเภทใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ในด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ตลอดจนปริมาณและชนิดของวัสดุที่จะมีให้ใช้บริเวณนั้น เป็นหลักสำคัญ ในการวางโครงการและการออกแบบเขื่อนดิน มีหลักเกณฑ์ทางด้านวิศวกรรมที่ใช้ยึดเป็นแนวปฏิบัติ คือ เขื่อนจะต้องมีความปลอดภัย จากการที่น้ำไม่สามารถล้นข้ามสันเขื่อนได้ โดยการจัดสร้างอาคารระบายน้ำล้นไว้ที่เขื่อน หรือที่บริเวณใกล้เคียง ให้มีความสามารถในการระบายน้ำได้มากเพียงพอ สำหรับควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ไม่ให้สูงจนล้นข้ามสันเขื่อน ตัวเขื่อนจะต้องมีความลาดเทของลาดเขื่อนทั้งสองด้านที่มั่นคงแข็งแรง โดยไม่เลื่อนลง ทั้งในระยะที่เพิ่มสร้างเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้เก็บกักน้ำ ในระหว่างเก็บกักน้ำไว้สูงเต็มที่ และในระหว่างที่น้ำในอ่างเก็บน้ำลดระดับลงอย่างรวดเร็วด้วย ส่วนในด้านที่เกี่ยวกับฐานรากของเขื่อน จะต้องไม่ให้ฐานรากของเขื่อน ต้องรับน้ำหนักกดต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่ มากเกินกว่าที่ฐานรากนั้น จะทนได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ฐานรากของเขื่อนยุบ ลงจนเป็นอันตรายต่อเขื่อน จะต้องหาทางป้องกัน ไม่ให้น้ำที่ซึม ผ่านฐานรากใต้เขื่อน มีแรงมากจนพัดพาเม็ดดินให้เคลื่อนตัว หรือลอยตามน้ำไปบริเวณที่น้ำซึมออกทางด้านท้ายเขื่อน และถ้าหากจะมีน้ำออกมาจากอ่างเก็บน้ำแล้ว ก็ต้องมีปริมาณไม่มาก เกินกว่าที่จะทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำสูญหายไป จนไม่พอใช้อีกด้วย ฐานรากของเขื่อนแต่ละแห่งมักจะแตกต่างกันไป บางแห่งอาจเป็นหินหรือดินด้านแข็งที่ทึบน้ำ ซึ่งเป็นฐานรากที่เหมาะแก่ การสร้างเขื่อน ฐานรากบางแห่งอาจเป็นทราย กรวด และดิน ตะกอนทรายผสมทับถมกัน มีสภาพให้น้ำซึมผ่านได้ง่าย แต่ไม่ มีปัญหาเกี่ยวกับการทรุดตัว ซึ่งอาจต้องออกแบบป้องกัน ไม่ให้น้ำซึมผ่านลอดใต้เขื่อนเพิ่มเติมเป็นพิเศษ และนอกจากนี้ ฐานรากบางแห่งอาจเป็นดินตะกอนทรายและดินเหนียวทับถมกัน ซึ่งโดยมากจะมีปัญหาเกี่ยวกับการทรุดตัวของฐานราก แต่ไม่มี ปัญหาเกี่ยวกับน้ำซึมลอดผ่าน ดังนั้น อาจต้องพิจารณาออกแบบ ป้องกันไม่ให้ฐานรากมีการทรุดตัวมากด้วยเช่นกัน อาคารประกอบของเขื่อนเก็บกักน้ำ ที่เขื่อนเก็บกักน้ำทุกแห่งจะต้องสร้างอาคารประกอบไว้ เพื่อให้ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ให้สูงจนล้มข้ามสันเขื่อน เพื่อระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำที่เชื่อมกับตัวเขื่อนโดยตรง และนอกจากนี้ บางแห่งอาจจะมีอาคารระบายน้ำ ลงสู่ลำน้ำอีกด้วย ดังต่อไปนี้ ก. อาคารระบายน้ำล้น สำหรับควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่ให้สูงจนล้นข้ามสันเขื่อน เมื่อน้ำในอ่างเก็บน้ำ ถูกเก็บน้ำไว้ถึงระดับที่ต้องการแล้ว หากว่ายังมีฝนตก หรือมีน้ำไหลลงมาอีก ก็จะถูกระบายทิ้งไปทางด้านท้ายเขื่อน ผ่านอาคารระบายน้ำล้นนี้ อาคารระบายน้ำล้นดังกล่าวจึงจำเป็นจะต้องสร้างควบคู่ไปกับเขื่อนเก็บน้ำทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนดิน หรือเขื่อนคอนกรีต | |||
อาคารระบายน้ำล้นสร้างไว้ที่ตัวเขื่อน โดยมีบานประตูบังคับน้ำ | |||
อาคารระบายน้ำล้น โดยส่วนใหญ่ จะสร้างเป็นอาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก อาจสร้างอยู่ที่ตัวเขื่อน และเป็นส่วนหนึ่งของเขื่อน ที่น้ำสามารถไหลล้นข้ามได้ ซึ่งเหมาะที่จะสร้างกับเขื่อน คอนกรีตประเภทต้านแรงดันน้ำด้วยน้ำหนักและเขื่อนดิน อาคารระบายน้ำล้นอาจเป็นอาคารที่สร้างแยกไปต่างหากที่บริเวณปลาย เขื่อนข้างใดข้างหนึ่งที่เหมาะสม ซึ่งเหมาะที่จะสร้างกับเขื่อน คอนกรีตรูปโค้งและเขื่อนดินทั่วไป หรืออาจสร้างเป็นอาคารแบบ ท่อลอดใต้ตัวเขื่อน โดยมีปล่องรับน้ำเข้าทางด้านอ่างเก็บน้ำ ซึ่ง เหมาะสำหรับงานเขื่อนดินที่เก็บกักน้ำไว้ไม่สูงมากนัก
การจะเลือกสร้างอาคารระบายน้ำล้นที่บริเวณใดและใน ลักษณะใดนั้น ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ให้เหมาะสมกับสภาพของฐานราก และปริมาณน้ำที่ต้องระบาย ออก ตลอดจนสภาพของลำน้ำซึ่งจะรับน้ำที่ล้นออกมานั้น โดยทั่วไปแล้ว ขนาดของอาคารระบายน้ำล้นจะต้องขึ้นอยู่กับอัตรา ของปริมาณน้ำที่คาดว่า จะไหลลงมายังอ่างเก็บน้ำมากที่สุด ในขณะที่น้ำในอ่างเก็บน้ำสูงถึงระดับที่ต้องการแล้ว ซึ่งจะต้องคำนวณ หาขนาดของช่องเปิดที่จะให้น้ำล้นมีความยาวมากพอ สำหรับการระบายน้ำจำนวนมากดังกล่าวไปได้ โดยที่ความสูงของน้ำซึ่ง ขึ้นสูงกว่าสันอาคารระบายน้ำล้นนั้น จะต้องไม่มากเกินไปกว่าระดับที่กำหนดไว้ให้ต่ำกว่าระดับสันเขื่อนนั้น ในกรณีนี้จะใช้สูตรสำหรับคำนวณ เหมือนกับสูตรที่ใช้คำนวณหาขนาดความ ยาวของฝาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่อง "ฝาย" ที่ช่องระบายน้ำของอาคารระบายน้ำล้นอาจจะสร้างเป็น แบบที่มีบานประตูเปิดและปิดสำหรับบังคับน้ำ หรือเป็นแบบให้น้ำไหลล้นข้ามไปได้อย่างอิสระตามความเหมาะสม ส่วนที่ต่อจากช่องระบายน้ำ จะสร้างเป็นทางน้ำ เพื่อบังคับน้ำให้ไหลพุ่งลงไปยังอ่างรับน้ำที่อยู่เบื้องล่าง น้ำที่ไหลลงมาอย่างรวดเร็วนั้น จะพุ่งเข้าชนแท่งคอนกรีต ที่สร้างขวางไว้เป็นระยะๆ ในอ่างรับน้ำ ทำให้น้ำเกิดการกระจายตัว และกระทบกระแทกกันเองจนปั่นป่วน เป็นเหตุให้พลังงานที่มีมาก เนื่องจากน้ำที่ไหลลงมาอย่างรวดเร็ว นั้นสูญหายหมดไปในอ่างรับน้ำ แล้วน้ำจึงไหลต่อไปตามทางน้ำ ที่ขุดขึ้นตามลำน้ำธรรมชาติโดยไม่เกิดการกัดเซาะ |
ข. ท่อปากคลองส่งน้ำ ในกรณีที่ต้องส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเข้าคลองส่งน้ำโดยตรง จะต้องสร้างอาคารที่ตัวเขื่อน เพื่อนำน้ำผ่านเขื่อนไปยังคลองส่งน้ำ ลักษณะของอาคารจะเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือท่อเหล็กสร้างผ่านตัวเขื่อน โดยปลายท่อด้านหน้าเขื่อน ซึ่งรับน้ำเข้า จะอยู่ที่ระดับน้ำต่ำสุด ที่ต้องการระบายออกไปจากอ่างเก็บน้ำ และที่บริเวณปากทางเข้านี้ จะติดตั้งบานประตู สำหรับควบคุมน้ำไว้ ส่วนปลายท่อด้านท้ายเขื่อน จะอยู่ในแนวต่ำกว่าปากทางน้ำเข้าด้านหน้าเขื่อนเล็กน้อย และเชื่อมกับอ่างรับน้ำ สำหรับกำจัดพลังงานที่เกิดจากน้ำไหลให้หมดไปเสียก่อน แล้วจึงไหลเข้าคลองส่งน้ำ ซึ่งเชื่อมต่อกับอ่างรับน้ำนั้น สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีความลึกมาก และต้องสร้างท่อปากคลองส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่ มักจะนิยมติดตั้งบานประตูบังคับน้ำ แบบรับแรงดันน้ำสูงไว้ที่ปลายท่อ โดยเปิดและปิดด้วยระบบไฮดรอลิกตามความเหมาะสม | ท่อปากคลองส่งน้ำ ที่เขื่อนเก็บกักน้ำ |
ค. ท่อระบายน้ำลงลำน้ำท้ายเขื่อน และท่อระบายน้ำไปหมุนกังหัน ท่อระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนอก เหนือจากท่อปากคลองส่งน้ำ จะสร้างไว้ที่เขื่อนเก็บกักน้ำ ซึ่งต้องการระบายน้ำลงสู่ลำน้ำ เพื่อการชลประทาน โดยเขื่อนทดน้ำที่สร้างอยู่ทางตอนล่าง หรือเพื่อระบายน้ำไปหมุนกังหัน เพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า |
ท่อระบายน้ำเข้าสู่โรงไฟฟ้าท้ายเขื่อน | |
อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำท้ายเขื่อน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกับท่อปากคลองส่งน้ำ เพียงแต่ปลายท่อจะพุ่งดิ่งลงไปในแนวต่ำ จนเกือบถึงท้องลำน้ำเท่านั้น ส่วนท่อระบายน้ำไปหมุนกังหัน จะเป็นท่อระบายน้ำอีก แห่งหนึ่ง โดยมีปากทางเข้าท่ออยู่ในระดับสูง แล้วอาจสร้าง ลอดใต้ตัวเขื่อน หรือสร้างเป็นท่อไว้ในบริเวณที่เหมาะสมตรง ไปยังโรงไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งกังหันน้ำที่อยู่ทางท้ายเขื่อนนั้น ระบบส่งน้ำ การที่จะนำน้ำจากต้นน้ำของโครงการชลประทาน ไปให้ถึงพื้นที่เพาะปลูกทุกแห่งในเขตโครงการได้ ต้องอาศัยระบบส่งน้ำ ระบบส่งน้ำที่มีราคาถูก และนิยมก่อสร้างกัน ได้แก่ ระบบส่งน้ำ ซึ่งจะประกอบด้วยคลองส่งน้ำ และอาคารของคลองส่งน้ำ ประเภทต่างๆ ที่สร้างขึ้น เพื่อใช้นำน้ำควบคุม และบังคับน้ำ จน สามารถส่งน้ำไปตามคลอง ซึ่งมีความลาดเทไปถึงพื้นที่เพาะปลูกทุกแห่ง ตามจำนวนที่ต้องการได้ คลองส่งน้ำ เป็นทางน้ำสำหรับนำน้ำจากแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นต้นน้ำของโครงการชลประทานไปยังพื้นที่เพาะปลูก น้ำจากแหล่งน้ำจะกระจายไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้ทั่วถึง ด้วยคลองต่างๆ ที่มีในเขตโครงการชลประทานนั้น คลองส่งน้ำแต่ละสายจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก ยาวหรือสั้น ย่อมขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่เพาะปลูกที่คลองสายนั้นๆ ควบคุมอยู่ และจำนวนคลองส่งน้ำทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการนั้นด้วย | |
คลองส่งน้ำสายใหญ่ | |
คลองส่งน้ำที่เริ่มต้นจากแหล่งน้ำที่ต้นน้ำของโครงการชลประทาน เรียกว่า คลองส่งน้ำสายใหญ่ คลองส่งน้ำสายใหญ่เป็นคลองสำหรับนำน้ำไปใช้ในเขตโครงการทั้งหมด จึงมีขนาดใหญ่กว่าคลองส่งน้ำสายอื่น โครงการชลประทานแห่งหนึ่งๆ อาจมีคลองส่งน้ำสายใหญ่ได้หลายสาย ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ขนาดและขอบเขตของโครงการ ที่กำหนดไว้ ในกรณีที่จะส่งน้ำผ่านเขื่อนเก็บกักน้ำเข้าคลองส่งน้ำโดยตรง คลองส่งน้ำสายใหญ่จะสร้างต่อจากปลายท่อปากคลองส่งน้ำท้ายเขื่อนเก็บกักน้ำ สำหรับโครงการเขื่อนทดน้ำ จะสร้างคลองส่งน้ำสายใหญ่ต่อจากบริเวณท้ายประตู หรือท่อปากคลองส่งน้ำซึ่งสร้างอยู่หน้าเขื่อนทดน้ำออกไป | |
คลองซอย | คลองส่งน้ำที่สร้างแยกจากคลองส่งน้ำสายใหญ่จะมีขนาดเล็กลงมา เรียกว่า คลองซอย ทำหน้าที่นำน้ำส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกบริเวณสองฝั่งของคลองนั้น คลองส่งน้ำสายใหญ่อาจมีคลองซอยแยกออกไปได้หลายสาย ตามความเหมาะสม |
คลองส่งน้ำที่สร้างแยกจากคลองซอย จะมีขนาดเล็กลงไปอีกเรียกว่า คลองแยกซอย การมีคลองแยกซอยเพิ่มขึ้น จะทำให้ส่งน้ำได้แพร่กระจายทั่วทั้งเขตโครงการดีขึ้น ซึ่งคลองซอยสายหนึ่งอาจมีคลองแยกซอยได้หลายสาย และที่คลองแยกซอย อาจมีคลองส่งน้ำขนาดเล็กๆ เป็นคลองแยกซอยแยกออกไปอีกก็ได้ | |
คลองส่งน้ำ ดาดด้วยคอนกรีต | คลองส่งน้ำทุกสาย ไม่ว่าจะเป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่ คลองซอย หรือคลองแยกซอย จะมีแนวคลองไปตามพื้นที่สูงที่สุดของบริเวณที่จะส่งน้ำให้เสมอ เพื่อที่ว่า เมื่อส่งน้ำออกจากคลองแล้ว น้ำจะได้ไหลลงสู่ที่ต่ำได้สะดวก และทั่วถึง คลองส่งน้ำสายใหญ่เป็นคลองส่งน้ำสายประธาน จึงมีแนวลัดเลาะไปตามชายเนิน ส่วนคลองซอย และคลองแยกซอยจะมีแนวไปตามสันเนิน ทำให้คลองซอย และคลองแยกซอยทุกสาย สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ทั่วไปส่วนใหญ่ได้ ซึ่งจำนวนพื้นที่ส่งน้ำทั้งหมดของโครงการชลประทาน จะเป็นผลรวมของพื้นที่ส่งน้ำจากคลองซอย และคลองแยกซอยทั้งหมด กับพื้นที่ส่งน้ำจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ |
คลองส่งน้ำที่สร้างผ่านพื้นที่ดิน ซึ่งน้ำร่วนซึมได้น้อย จะสร้างเป็นคลองดินธรรมดา เพราะมีราคาถูก แต่ถ้าสร้างในภูมิประเทศที่มีดินเป็นดินปนทราย จะทำให้มีน้ำรั่วซึมสูญหายไปจากคลองมาก จำเป็นต้องหาวิธีการป้องกัน ไม่ให้มีน้ำสูญหายไปจากคลอง เช่น ดาดคลองด้วยคอนกรีต เป็นต้น สัดส่วนและขนาดของคลองส่งน้ำ สามารถคำนวณได้จาก สูตรการไหลของน้ำในทางน้ำเปิด โดยสูตรของแมนนิง (Man- ning Formula) คือ Q = ๑/n R๒/๓S๑/๒A เมื่อ Q = ปริมาณน้ำที่ต้องการส่งไปตามคลอง เป็น ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที n = สัมประสิทธิ์ของความขรุขระของคลอง มี ค่าประมาณ ๐.๐๓๐-๐.๓๕ สำหรับคลอง ดิน และมีค่าประมาณ ๐.๐๑๖ สำหรับคลอง ดาดด้วยคอนกรีต R = รัศมีทางชลศาสตร์ของคลอง เป็นเมตร = A/P A = พื้นที่รูปตัดขวางของน้ำที่ไหลในคลอง เป็น ตารางเมตร P = ความยาวของลาดตลิ่งคลอง ส่วนที่อยู่ใต้ ผิวน้ำทั้งสองข้าง บวกกับความกว้างของ ท้องคลอง เป็นเมตร S = ลาดของผิวน้ำในคลอง หรือเท่ากับค่าความ ลาดเทของท้องคลองไปตามแนวคลองโดย ประมาณ คลองส่งน้ำทุกสายจะต้องมีสัดส่วนและขนาด คือพื้นที่ รูปตัดขวางของคลองโตพอที่จะส่งน้ำที่มีปริมาณตามต้องการไปได้ และมีระดับน้ำในคลองสูงพอที่จะส่งไปยังพื้นที่เพาะปลูกที่ ต้องการใช้น้ำนั้นด้วย อาคารของคลองส่งน้ำ นอกจากคลองส่งน้ำของโครงการชลประทาน ซึ่งได้แก่ คลองส่งน้ำสายใหญ่ คลองซอย และคลองแยกซอยแล้ว ตามคลองส่งน้ำทุกสายยังจะต้องสร้างอาคารประเภทต่างๆเป็นแห่งๆ แล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อให้ระบบส่งน้ำสามารถส่งน้ำไปให้กับพื้นที่เพาะปลูกตลอดคลอง ในเขตโครงการชลประทานตามที่ต้องการได้ อาคารของคลองส่งน้ำมีหลายประเภทหลายลักษณะ และมีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งจะกล่าวถึงเฉพาะสำหรับอาคารที่สำคัญๆ เท่านั้น ดังต่อไปนี้ ก. ประตู หรือท่อปากคลองซอย และคลองแยกซอย ที่ต้นคลองซอย ซึ่งแยกออกจากคลองส่งน้ำสายใหญ่ และคลองแยกซอย ซึ่งแยกออกจากคลองซอยจะต้องสร้างอาคารไว้สำหรับควบคุมน้ำให้ไหลเข้าคลองส่งน้ำ ตามจำนวนที่ต้องการ หากคลองซอย หรือคลองแยกซอยมีขนาดใหญ่ และจะต้องส่งน้ำไปตามคลองจำนวนมาก ก็จะนิยมสร้างอาคารควบคุมน้ำไว้ที่ต้นคลอง เป็นแบบประตูระบายน้ำ ซึ่งจะมีรูปร่างเหมือนกับประตูปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าหากคลองซอย หรือคลองแยกซอยมีขนาดเล็ก และจะต้องส่งน้ำไปตามคลองจำนวนไม่มากนัก ก็จะนิยมสร้างอาคารที่ต้นคลองเหล่านั้นเป็นแบบท่อ โดยที่ปากทางเข้าของท่อจะติดตั้งบานประตูไว้ สำหรับควบคุมปริมาณน้ำที่จะให้ไหลผ่านท่อในจำนวนที่ต้องการได้ เช่นเดียวกับท่อปากคลองส่งน้ำสาย ใหญ่ |
ท่อปากคลองซอย | |
ข. ท่อเชื่อม เป็นท่อที่สร้างเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำ สำหรับนำน้ำจากคลองส่งน้ำที่อยู่ทางฝั่งหนึ่งของลำน้ำธรรมชาติหรือถนน ให้ไหลไปในท่อที่ฝังลอดใต้ลำน้ำหรือถนน ไปยังคลองส่งน้ำที่อยู่อีกทางฝั่งหนึ่ง ท่อเชื่อมส่วนใหญ่จะสร้างเป็นที่คอนกรีตเสริมเหล็ก แต่จะมีรูปร่างกลมหรือสี่เหลี่ยม และจะสร้างเป็นแถวเดียว หรือหลายแถวนั้น ก็ต้องให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่จะให้ไหลผ่านท่อ ตัวท่อที่ฝังอยู่ใต้ผิวดินจะต้องสร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง ให้สามารถรับแรงดันทั้งของดิน และของน้ำภายในท่อได้ น้ำจากคลองส่งน้ำ จะไหลเข้าท่อ ในสภาพที่มีน้ำเต็มท่อ แล้วไหลไปออกที่คลองส่งน้ำอีกทางด้านหนึ่ง ด้วยแรงที่เกิดจากการที่ระดับน้ำในคลอง บริเวณปากทางเข้าท่อสูงกว่าระดับน้ำในคลองด้านทางออกของท่อ โดยทั่วไปท่อเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำจะสร้างไว้ในบริเวณที่คลองส่งน้ำตัดกับลำน้ำธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่ และในลำน้ำธรรมชาติ มีน้ำไหลมากกว่าน้ำที่ไหลในคลองส่งน้ำมาก ค. สะพานน้ำ เป็นทางน้ำสำหรับนำน้ำจากคลองส่งน้ำที่อยู่ทางด้านหนึ่งของลำน้ำธรรมชาติ ที่ลุ่ม หรือลาดเชิงเขา ข้ามไปหาคลองส่งน้ำที่อยู่อีกทางด้านหนึ่ง สะพานน้ำจะมีลักษณะเป็นรางน้ำเปิดธรรมดา หรือรางน้ำปิดแบบท่อ โดยวางอยู่บนตอม่อ หรือฐานรองรับทอดข้ามลำน้ำธรรมชาติ ที่ลุ่ม หรือวางไปตามลาดเชิงเขา ปากทางเข้า และปากทางออก ของสะพานน้ำจะเชื่อมกับคลองส่งน้ำ ซึ่งเมื่อน้ำไหลออกจากสะพานน้ำแล้ว ก็จะไหลต่อไปในคลองส่งน้ำได้ตามปกติ | |
สะพานน้ำ | |
สะพานน้ำโดยทั่วไปจะมีลักษณะเป็นรูปวงกลม ครึ่ง วงกลม หรือเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่ประกอบด้วยพื้นและผนังอีก ๒ ด้าน สร้างตั้งฉากกับพื้น และจะสร้างได้ด้วยวัสดุต่างๆกัน เช่น ไม้ แผ่นเหล็ก และคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นต้น น้ำที่ไหลในสะพานน้ำจะเหมือนกับการไหลของน้ำใน คลองส่งน้ำ การคำนวณหาขนาดพื้นที่หน้าตัดของน้ำที่ไหลใน ทางน้ำ จึงใช้สูตรในการคำนวณแบบการคำนวณคลองส่งน้ำ ง. น้ำตก เนื่องด้วยคลองส่งน้ำบางสายอาจจะมีแนวไปตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งผิวดินตามธรรมชาติ มีความลาดเทมากกว่าความลาดเทของคลองส่งน้ำที่กำหนดไว้ จึงจำเป็นต้องลดระดับท้องคลองส่งน้ำให้ต่ำลง ในแนวดิ่งบ้างเป็นแห่งๆ ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่แนวคลองส่งน้ำผ่าน ในบริเวณที่คลองส่งน้ำเปลี่ยนระดับต่ำลงนี้ จำเป็นต้องมีอาคาร สำหรับบังคับน้ำที่ไหลมาตามคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวบน ให้ไหลตกลงมาที่อาคารตอนล่างเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้คลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวล่างต้องชำรุดเสียหาย เนื่องจากความแรงของน้ำที่ไหลตกลงมานั้น อาคารดังกล่าวข้างต้นนี้ เรียกว่า "น้ำตก" แรงของน้ำที่ ไหลตกลงมาจะสูญหายไปจนหมดภายในอ่างรับน้ำอันเป็นส่วนหนึ่ง ของอาคาร ซึ่งอยู่ด้านล่าง จากนั้น น้ำจึงจะไหลเข้าคลองส่งน้ำที่ต่อ จากปลายอ่างรับน้ำต่อไปตามปกติ อาคารน้ำตกที่นิยมสร้างกันโดยทั่วไปมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ตลอดจนขนาดของคลองส่งน้ำ และปริมาณน้ำที่ไหลผ่านอาคาร เช่น | |
๑. น้ำตกชนิดตั้ง จะประกอบด้วยกำแพงที่สร้างปิดปลาย คลองส่งน้ำที่อยู่แนวบน โดยมีช่องเปิดให้น้ำผ่านได้อยู่ตรงกลาง ตัวกำแพงจะสร้างไว้ในแนวดิ่ง และตั้งตรง ลงมาเชื่อมกับอ่างรับ น้ำ ซึ่งมีพื้นอยู่ต่ำกว่าท้องคลองส่งน้ำที่อยู่แนวล่างเล็กน้อย น้ำในคลองส่งน้ำจะไหลผ่านช่องเปิด ตกลงมายังอ่างรับน้ำ เหมือนกับการไหลของน้ำข้ามสันฝาย จากนั้นจึงไหลเข้าคลองส่งน้ำ ที่ต่อจากปลายอ่างน้ำไปตามปกติ โดยทั่วไปแล้ว น้ำตกชนิดตั้งจะสร้างกับคลองส่งน้ำ ที่มีขนาดไม่ใหญ่ และกับคลองส่งน้ำที่ลด ระดับต่ำลงไม่มากนัก | น้ำตกชนิดตั้ง |
๒. น้ำตกชนิดรางเท โดยทั่วไป จะสร้างกับคลองส่งน้ำ ที่มีขนาดใหญ่ และกับคลองส่งน้ำที่ต้องลดระดับต่ำลงไปมาก น้ำตกประเภทนี้จะประกอบด้วยรางน้ำที่สร้างให้มีความลาด เอียง เชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำ ที่อยู่ในแนวบน กับอ่างรับน้ำ ที่อยู่ในแนวล่าง น้ำในคลองส่งน้ำจะไหลเข้าไปในรางน้ำด้วยความเร็ว สูงพุ่งลงมายังอ่างรับน้ำ ก่อนจะไหลเข้าคลองส่งน้ำต่อไป ๓. น้ำตกชนิดท่อ ส่วนมากนิยมสร้างแทนน้ำตกชนิดรางเท โดยมีท่อวางให้มีความลาดเอียงแทนส่วนที่เป็นรางเท ตอนบนของท่อ จะเชื่อมต่อกับส่วนหนึ่งของอาคาร เพื่อที่จะรับน้ำเข้าท่อ และท่อตอนล่างจะเชื่อมต่อกับอ่างรับน้ำ และคลองส่งน้ำตามลำดับ ส่วนบริเวณหลังท่อจะถมด้วยดินถมบดอัดแน่นเป็นคันดินขวาง คลองส่งน้ำสำหรับใช้เป็นทางข้ามคลองส่งน้ำได้อีกด้วย อาคารน้ำตกทุกชนิดตามที่ได้กล่าวมานี้ ส่วนมากจะสร้าง ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก และทุกแห่งมักจะทำหน้าที่เป็นอาคาร สำหรับทดอัดน้ำในคลองส่งน้ำควบคู่กันไปด้วย โดยจะติดตั้ง บานประตูหรือจัดช่องเพื่อใส่แผ่นไม้ สำหรับอัดน้ำไว้ที่บริเวณช่องน้ำผ่าน หรือที่บริเวณปากทางเข้าท่อนั้น | |
จ. รางเท เป็นอาคารสำหรับนำน้ำจากคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวบน ให้ลงมายังคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวล่างเหมือนกับน้ำตก แต่แตกต่างกันที่ รางเทนั้นจะมีน้ำไหลมาตามรางหรือท่อ ซึ่งวางลาดเอียงไปตามสภาพของภูมิประเทศ เป็นระยะทางไกล จึงจะถึงอ่างรับน้ำ และคลองส่งน้ำที่อยู่ในแนวล่างนั้น รางเทจะประกอบด้วยส่วนที่เป็นรางน้ำ หรือท่อนำน้ำตอนบนของรางเท หรือท่อ จะเชื่อมต่อกับส่วนหนึ่งของอาคาร เพื่อรับน้ำเข้ารางเท หรือจากปลายคลองส่งน้ำ ซึ่งอยู่ในแนวบน แล้วเชื่อมต่อกับอ่างรับน้ำ และคลองส่งน้ำ ซึ่งอยู่ในแนวล่างตามลำดับ น้ำที่ไหลลงมาตามรางเท หรือในท่อจะมีความเร็วสูง แต่ลักษณะการไหลของน้ำจะเหมือนกับน้ำที่ไหลในสะพานน้ำ และในคลองส่งน้ำดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อาคารรางเทส่วนมากมักจะสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก | รางเท |
|
อาคารอัดน้ำขนาดใหญ่ | อาคารอัดน้ำในคลองส่งน้ำ จึงมีหน้าที่เหมือนกับอาคารทดน้ำจากแหล่งน้ำ ที่ต้นน้ำของโครงการชลประทาน จะต่างกันที่อาคารอัดน้ำในคลองนั้น มักมีขนาดเล็กกว่า และจะสร้างให้มีขนาด ที่สามารถระบายน้ำปริมาณสูงสุดของคลองส่งน้ำได้เท่านั้น |
อาคารอัดน้ำจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่แตกต่างกันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับขนาดของคลองส่งน้ำ และปริมาณน้ำสูงสุดของคลอง สำหรับอาคารอัดน้ำของคลองส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่ อาจจะสร้าง เป็นอาคารแบบเดียวกับประตูปากคลองส่งน้ำ โดยมีบานประตู สำหรับควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านมากหรือน้อยได้ ส่วนอาคาร อัดน้ำของคลองที่มีขนาดเล็กอาจจะสร้างเป็นกำแพงตั้งติดกับพื้น วางขวางคลองส่งน้ำ โดยที่กำแพงจะมีช่องเปิดช่องเดียว หรือ หลายช่องก็ได้ แต่จะต้องมีความลึกให้ถึงระดับพื้นด้านล่าง และให้กว้างพอที่ปริมาณน้ำสูงสุดในคลองส่งน้ำจะผ่านไปได้อย่าง สะดวก แต่ละช่องอาจจะทำร่องสำหรับให้ใส่แผ่นไม้ ซึ่งไหลมา ในคลองจะถูกทดอัดขึ้นจนสูง แล้วไหลข้ามแผ่นไม้ไปได้เหมือน กับน้ำที่ไหลข้ามไปบนสันฝายนั่นเอง อาคารอัดน้ำส่วนมากมักจะ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก | |
อาคารอัดน้ำ มีบานประตูบังคับน้ำ | |
นอกจากอาคารอัดน้ำซึ่งสร้างให้ทำหน้าที่ทดอัดน้ำ โดยตรงดังกล่าวข้างต้นแล้ว อาคารประเภทอื่น ได้แก่ ท่อเชื่อม สะพานน้ำ น้ำตก และรางเท ฯลฯ ยังสามารถดัดแปลงโดยติด- ตั้งบานประตู หรือจัดช่องสำหรับใส่แผ่นไม้ที่บริเวณด้านหน้า ของอาคารเหล่านั้น เพื่อให้ทำหน้าที่ทดอัดน้ำในคลองให้มีระดับ สูงตามที่ต้องการได้อีกด้วยเช่นกัน | |
ท่อลอดถนนทำหน้าที่เป็นอาคารอัดน้ำ | |
ช. ท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก เป็นอาคาร ซึ่งสร้างที่คลองส่งน้ำ ทำหน้าที่จ่าย และควบคุมน้ำ ที่จะส่งออกจากคลองส่งน้ำ ไปให้พื้นที่เพาะปลูก ตลอดแนวคลองส่งน้ำจะมีท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกที่ สร้างไว้เป็นระยะๆ ตามตำแหน่ง ซึ่งสามารถส่งน้ำออกไปได้สะดวก และทั่วถึง ท่อส่งน้ำแต่ละแห่งจะสามารถส่งน้ำชลประทานให้กับพื้นที่เพาะปลูกได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกที่ท่อส่งน้ำทุกแห่งส่งไปให้ได้ จะเป็นพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดที่คลองส่งน้ำนั้นๆ ควบคุมอยู่ | |
ท่อส่งน้ำจากคลองส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูก | ท่อส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกส่วนมากจะสร้างเป็นอาคาร คอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบด้วยท่อฝังผ่านคันคลองส่งน้ำ ปากทางน้ำเข้าท่อ ที่ลาดด้านข้างของคลองส่งน้ำ จะมีร่องน้ำขนาดเล็ก สร้างไปเชื่อมกับท่อ พร้อมกับติดตั้งบานประตูไว้ที่ปากทางเข้าท่อ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมน้ำ ที่จะไหลเข้าท่อ ให้มีจำนวนมากหรือน้อย ตามที่ต้องการได้เสมอ ส่วนที่ปากทางออกของท่อก็จะสร้าง รางน้ำขนาดเล็กไปต่อเชื่อมกับคูส่งน้ำ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อนำน้ำกระจายไปให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูกด้วย |
ซ. ท่อระบายน้ำลอดใต้คลองส่งน้ำ ในกรณีที่คลองส่งน้ำตัดผ่านร่องน้ำขนาดเล็ก และบริเวณพื้นที่อื่น เช่น ที่ลุ่ม ซึ่งมีน้ำไหลมาตามธรรมชาติน้อย มักจะนิยมสร้างอาคารแบบท่อเพื่อระบายน้ำให้ ลอดใต้ท้องคลองส่งน้ำไป โดยไม่สร้างท่อเชื่อมระหว่างคลองส่งน้ำลอดใต้ร่องน้ำหรือที่ลุ่ม เนื่องจาก มีราคาแพงกว่า ท่อระบายน้ำลอดใต้คลองส่งน้ำอาจสร้างเป็นท่อกลม หรือท่อสี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นท่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ฌ. อาคารระบายน้ำล้น เป็นอาคารสำหรับทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้น้ำที่ไหลมาในคลองส่งน้ำ มีระดับสูงเกินกว่าระดับน้ำสูงสุด ในคลองที่กำหนดไว้จนล้นข้างคลอง และทำความเสียหายให้กับคลองส่งน้ำ ทั้งนี้ เพราะในขณะทำการส่งน้ำมัน ระดับน้ำในคลองส่งน้ำจะถูกทดอัดให้สูงอยู่ตลอดเวลา และทางต้นคลองส่งน้ำก็จะเปิดประตู หรือท่อปากคลองส่งน้ำ จนมีน้ำไหลเข้ามาในคลอง เท่ากับจำนวนน้ำที่ส่งออกจากคลองผ่านท่อส่งน้ำ ให้พื้นที่เพาะปลูกทุกแห่ง ซึ่งทำให้น้ำในคลองขณะส่งน้ำมีระดับคงที่ หากเวลาใดที่ชาวนา ชาวไร่ หรือเจ้าหน้าที่ทดอัดน้ำหลายแห่งอย่างบังเอิญ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยไม่ลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาทางต้นคลองส่งน้ำเสียก่อน จะทำให้น้ำในคลองมีระดับสูงขึ้นๆ จนล้นคลองส่งน้ำได้ จึงมักจะสร้างอาคารระบายน้ำล้นไว้ที่ข้างคลองส่งน้ำ ในบริเวณด้านหน้าอาคารอัดน้ำ สะพานน้ำ ท่อเชื่อม หรือน้ำตก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ | |
อาคารระบายน้ำล้นข้างคลองส่งน้ำ | |
อาคารระบายน้ำล้นอาจจะสร้างเป็นอาคารคล้ายกับฝาย โดยการตัดคันคลองส่งน้ำด้านใดด้านหนึ่งลงไป จนถึงระดับน้ำสูงสุด ในคลองที่กำหนดไว้ แล้วดาดด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กให้มี ความลาดเอียงลงไปจนถึงพื้นดินธรรมชาติทางด้านล่าง ของคันคลองส่งน้ำ หรืออาจจะสร้างเป็นท่อฝังผ่านคันคลองส่งน้ำเชื่อม กับทางน้ำล้นเข้า ที่อยู่ในบริเวณข้างคลองส่งน้ำ โดยมีสันทางน้ำล้นเท่ากับระดับน้ำสูงสุดในคลองที่กำหนดไว้นั้นเช่นกัน |