เล่มที่ 7
การชลประทาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การชลประทานเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มนุษย์ได้คิดค้นขึ้น เพื่อนำน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก มนุษย์เรารู้จัก และเริ่มกิจการชลประทานมานานกว่า ๕,๐๐๐ ปีแล้ว ดินแดนที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีต เช่น แอสซีเรีย บาบิโลเนีย อียิปต์ กรีก และจีน ฯลฯ ได้จัดตั้งโครงการชลประทานไว้หลายแห่ง โดยการสร้างเขื่อน แล้วขุดคลองส่งน้ำ นำน้ำจากด้านหน้าเขื่อน ไปให้พื้นที่เพาะปลูก จนทำให้การเพาะปลูกมีผลดีขึ้น เชื่อกันว่า การชลประทานเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ เหล่านั้น มีการเพาะปลูกที่ให้ผลิตผลดี ทำให้มีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง จนเป็นประเทศที่เจริญและมั่งคั่งที่สุดในสมัยนั้น
ฝายที่ราษฎรนิยมก่อสร้างในภาคเหนือ
ฝายที่ราษฎรนิยมก่อสร้างในภาคเหนือ
            สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะคนไทยในภาคเหนือรู้จัก วิธีทำการชลประทานมานานประมาณ ๗๐๐ ปีแล้ว จากหลักฐานที่ปรากฏ ได้พบร่องรอยของคลองส่งน้ำเก่าสายหนึ่ง ยาวประมาณ ๓๔ กิโลเมตร ในเขตอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่า ได้สร้างไว้ในสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช และแนวคลองสายนี้ ก็มีแนวที่เหมาะสมด้วย โดยอยู่ใกล้ และขนานไปกับคลองส่งน้ำสายใหญ่ของโครงการชลประทานแม่แฝกในปัจจุบัน
คลองส่งน้ำที่ราษฎรสร้างเองในภาคเหนือ
คลองส่งน้ำที่ราษฎรสร้างเองในภาคเหนือ
            คนไทยในภาคเหนือทุกยุคทุกสมัยมีความรู้และความเข้าใจ เรื่องการชลประทานเป็นอย่างดี มีความสามารถ และนิยมสร้างอาคารประเภทหนึ่งขวางทางน้ำธรรมชาติ เรียกว่า "ฝาย" สำหรับทดน้ำให้มีระดับสูง ก่อนที่จะให้น้ำไหลเข้าไปตามคลอง ส่งน้ำและคูส่งน้ำที่ขุดไว้ เพื่อแจกจ่ายน้ำต่อไปจนทั่วพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องการ ราษฎรในภาคเหนือเรียกคลองส่งน้ำ และคูส่งน้ำว่า "เหมือง" การชลประทานลักษณะนี้จึงได้ชื่อว่า "การชลประทานประเภทเหมืองฝาย" มาจนถึงทุกวันนี้

            สมัยกรุงสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชได้ทรงสร้างเขื่อนดินแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สำหรับเก็บกักน้ำในลำธารที่มีมากในฤดูฝน โดยได้ระบายน้ำที่เขื่อนนี้ เก็บกักไว้ออกไปให้พื้นที่เพาะปลูกรอบๆ เมือง ระยะที่ฝนไม่ตก และในหน้าแล้ง เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ สำหรับการเพาะปลูกของพื้นที่ส่วนหนึ่งได้เป็นอย่างดี

เขื่อนสรีดภงส์ จังหวัดสุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปัจจุบันได้บูรณะเพิ่มเติม            เขื่อนสรีดภงส์ จังหวัดสุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปัจจุบันได้บูรณะเพิ่มเติม

            สมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณ พ.ศ. ๒๑๗๖ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำธารทองแดง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ สำหรับใช้รดน้ำต้นไม้ และสำหรับการอุปโภคบริโภคในบริเวณพระราชนิเวศน์ธารเกษมที่พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๒๐๔ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำที่ห้วยซับเหล็กอีกแห่งหนึ่ง เพื่อเก็บน้ำไว้ สำหรับการเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภคที่เมืองลพบุรี นอกจากนี้ในรัชสมัยต่อๆ มาก็ได้มีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำสายต่างๆ ในบริเวณ ทุ่งราบภาคกลาง เพื่อประโยชน์ในด้านการคมนาคม และเพื่อให้น้ำจากแม่น้ำ กระจายเข้าไปสู่พื้นที่เพาะปลูก เป็นประโยชน์ต่อการปลูกข้าวบริเวณสองฝั่งลำน้ำเหล่านั้นด้วย

            สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการขุดคลองเชื่อมทางน้ำและแม่น้ำต่างๆ ในบริเวณทุ่งราบภาค กลางเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีทางน้ำ สำหรับนำเข้าไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้มากยิ่งขึ้น เมื่อน้ำในแม่น้ำลำคลองมีระดับสูง จะไหลล้นตลิ่งไปท่วมพื้นที่เพาะปลูกได้เอง ราษฎรได้รับประโยชน์จากคลองที่ขุดไว้เป็นอย่างมาก

            ต่อมาประเทศไทยมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้น ราษฎรจำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกขึ้นไปบนที่ดอน ซึ่งสูงเกินกว่าระดับน้ำในคลองจะขึ้นถึงได้ จึงทำให้ไม่ได้รับน้ำ และเป็นเหตุให้การเพาะปลูกในบริเวณที่ดอนไม่ค่อยได้ผลดีนัก ซึ่งหากปีใดเป็นปีฝนแล้งมีฝนตกไม่มากพอในฤดูกาลทำนา จะทำให้การปลูกข้าวของราษฎรบางท้องที่ได้รับความเสียหาย

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนัก และห่วงใยถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับการปลูกข้าว ที่ได้เกิดขึ้นแก่ราษฎรของพระองค์อยู่เสมอเป็นอย่างดี ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๔๕ พระองค์จึงได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการชลประทานชาวฮอลันดา ชื่อ นาย เย โฮมัน วัน เดอร์ ไฮเด (Mr. J. Homan van der heide) ให้มาศึกษาหาลู่ทางสร้างกิจการชลประทานขนาดใหญ่ ในบริเวณทุ่งราบภาคกลาง ซึ่งได้เสนอให้สร้างเขื่อนทดน้ำขนาดใหญ่ เพื่อทดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท แล้วขุดคลองส่งน้ำนำน้ำด้านหน้าเขื่อนไปยังพื้นที่เพาะปลูก ที่อยู่บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำ จนถึงพื้นที่บริเวณชายทะเล แต่แผนงานก่อสร้างโครงการนี้ต้องระงับไว้ เพราะใช้เงินลงทุนมาก จึงเพียงแต่ขุดลอกคลองบริเวณภาคกลางตอนล่าง เช่น คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก คลองแสนแสบ คลองพระโขนง และคลองสำโรง เป็นต้น พร้อมกับสร้างอาคารบังคับน้ำที่ปากและท้ายคลอง ให้ทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำไว้ในคลอง สำหรับใช้ทำนา และสำหรับคมนาคมด้วย พร้อมกันนี้ในรัชสมัยของพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมคลอง ให้รับผิดชอบการพัฒนางานในด้านนี้ต่อไป ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อกรมคลอง เป็นกรมทดน้ำ และกรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ และ พ.ศ. ๒๔๗๐ ตามลำดับเพื่อให้มีความเหมาะสมกับ ลักษณะงานที่กรมนี้ดำเนินการและรับผิดชอบอยู่
เขื่อนพระราม ๖ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เขื่อนพระราม ๖ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับว่าเป็นสมัยที่เริ่มมีการพัฒนากิจการชลประทานแผนใหม่อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พื้นที่เพาะปลูกของประเทศ ให้มากที่สุด ตามความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศของแต่ละท้องที่ และตามความเหมาะสมกับสถานะทางการเงินของประเทศจะอำนวยให้

            การจัดทำกิจการชลประทานขนาดใหญ่ได้เริ่มขึ้นเป็น ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยการสร้างเขื่อนพระราม ๖ ซึ่งเป็นเขื่อนระบายน้ำปิดกั้นแม่น้ำป่าสัก ที่ตำบลท่าหลวง อำเภอ ท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับก่อสร้างงานระบบส่งน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๖๘๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งการก่อ สร้างทั้งหมดนี้ได้เสร็จตามโครงการเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ หลังจากนั้นต่อมา ก็ได้มีการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ ฝายพร้อมด้วยระบบส่งน้ำ และเขื่อนเก็บกักน้ำ สำหรับเก็บกักน้ำให้เป็นแหล่งน้ำ สำหรับการชลประทาน ซึ่งมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เป็น จำนวนมากตามลำดับ จนถึงปัจจุบันนี้ มีเนื้อที่เพาะปลูกอยู่ใน เขตที่มีการชลประทานแล้ว ประมาณ ๑๘ ล้านไร่ และยังจะต้องพัฒนางานด้านนี้ต่อไปอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อการขยายตัวของพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย