อาคารประกอบของเขื่อนทดน้ำ
นอกจากฝายหรือเขื่อนระบายน้ำ ซึ่งสร้างขึ้นสำหรับทดน้ำให้มีระดับสูงตามที่ต้องการแล้ว ที่บริเวณต้นน้ำของโครงการชลประทาน หรือที่บริเวณใกล้กับอาคารเขื่อนทดน้ำ ยังจะต้องสร้างอาคาร ซึ่งเป็น อาคารประกอบอื่นๆ อีกตามความจำเป็น เพื่อให้การทดน้ำ และการส่งน้ำเป็นไปอย่างสมบูรณ์ อาคารประกอบ ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
ท่อปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ สร้างอยู่หน้าเขื่อนระบายน้ำ
ก. ประตูหรือท่อปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ ที่บริเวณปากคลองส่งสายน้ำใหญ่ ซึ่งรับน้ำจากแหล่งน้ำ หน้าเขื่อนทดน้ำทุกแห่งจะต้องมีอาคาร สำหรับควบคุมจำนวนน้ำ ที่จะให้ไหลเข้าคลองส่งน้ำตามที่ต้องการ คลองส่งน้ำที่มีขนาดใหญ่อาจจะสร้างเป็นอาคาร ที่มีรูปร่างคล้ายกับเขื่อนระบายน้ำ แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ต้องการสูงสุดของคลองส่งน้ำนั้น และที่บริเวณด้านหน้าของช่องระบายน้ำ ก็จะมีบาน ประตูเพื่อใช้ปิดและเปิด สำหรับควบคุมปริมาณน้ำให้ได้ตามจำนวนด้วย ส่วนคลองส่งน้ำที่มีขนาดเล็ก อาจจะสร้างเป็นอาคารแบบท่อ และมีบานประตูติดตั้งไว้ที่ปากทางเข้าท่อ สำหรับใช้เพื่อควบคุมปริมาณน้ำด้วย เช่นกัน
ข. ประตูระบายทราย ปกติแล้วมักจะสร้างควบคู่ไปกับ เขื่อนทดน้ำประเภทฝาย โดยมีช่องระบายน้ำลึกลงไปจนถึง ระดับท้องน้ำธรรมชาติ สำหรับระบายตะกอนทราย ที่บริเวณหน้าประตูหรือท่อปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ และบริเวณด้านหน้าของฝายบางส่วน ทิ้งไปทางด้านท้ายฝาย เพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนไหลเข้าไปตก จนในคลองส่งน้ำจมตื้นเขิน นอกจากนี้ในฤดูน้ำ หลาก ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลมามาก ก็จะสามารถช่วยระบายน้ำได้ อีกด้วย นอกเหนือจากการที่น้ำไหลล้นข้ามสันฝายตามปกติ ส่วนเขื่อนระบายน้ำจะมีช่องระบายน้ำผ่านตัวเขื่อนลึกถึงระดับ ท้องน้ำจะทำหน้าที่ระบายตะกอนทรายที่บริเวณด้านหน้าเขื่อน ได้ดีอยู่แล้ว จึงไม่ต้องสร้างประตูระบายทรายเหมือนกับงานฝาย
ประตูระบายทราย
อาคารประตูระบายทรายโดยมากจะสร้างติดกับฝาย ทาง ด้านที่มีประตูหรือท่อปากคลองส่งน้ำ ลักษณะของอาคาร จะสร้างเป็นช่องระบาย ซึ่งมีระดับพื้นต่ำกว่าพื้นของประตูหรือท่อปาก คลองส่งน้ำ โดยจะมีขนาดความกว้าง ตามปริมาณของตะกอนทราย ที่คาดว่าจะต้องระบายทิ้งไป หรือตามปริมาณน้ำส่วนหนึ่ง ที่ต้องการระบายในฤดูน้ำหลากนั้น
ค. ทางสำหรับซุงผ่าน ในลำน้ำที่มีการล่องซุงเป็นประจำ จะนิยมสร้างร่องน้ำสำหรับให้ซุงผ่านไว้ที่ตัวฝาย โดยลดระดับให้ต่ำลงมาจากสันฝาย เมื่อมีการล่องซุงถึงบริเวณร่องน้ำดังกล่าว ก็จะ สามารถผ่านไปได้โดยไม่ติดค้างอยู่ที่สันฝาย ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายแก่ตัวฝาย หรือเป็นอุปสรรคต่อการทด และส่งน้ำได้
ลักษณะของร่องน้ำจะต้องมีขนาดกว้างและลึกลงไปจาก สันฝาย พอที่จะให้ซุงขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งผ่านไปได้ในคราว เดียวกัน ท้องร่องน้ำจะมีความลาดเอียงไปทางด้านท้ายฝาย พร้อมกับมีกำแพงกันอยู่ทั้งสองด้าน และที่ปากทางเข้าของร่องน้ำ จะต้องติดตั้งบานประตู สำหรับป้องกันไม่ให้น้ำทางด้าน หน้าฝายไหลผ่านไปได้ตลอดเวลาด้วย
ง. บันไดปลา เป็นร่องน้ำขนาดเล็ก ซึ่งสร้างไว้ที่บริเวณปลายฝายหรือเขื่อนระบายน้ำด้านใดด้านหนึ่ง มีลักษณะเป็นบ่อขังน้ำ ที่มีความลาดเอียงและเป็นขั้นบันได โดยปากทางเข้าจะลดระดับให้ต่ำกว่า ระดับน้ำที่ต้องการทดลองอัดเล็กน้อย เมื่อน้ำถูกอัด จนถึงระดับที่ต้องการแล้ว จะมีน้ำไหลลงไปตามร่องน้ำ ซึ่งจะมีน้ำขังอยู่เป็นแอ่งและไหลตกเป็นขั้นบันไดเตี้ยๆ ทำให้ปลาสามารถว่ายทวนน้ำจากทางด้านท้าย อาคารไต่ขั้นบันไดที่มีน้ำไหลตลอดเวลานั้น ขึ้นไปทางด้านหน้าของอาคารได้ ดังนั้นในลำน้ำที่มีน้ำไหล ตลอดปี และเป็นแหล่งที่มีปลา การสร้างบันไดปลาไว้ด้วย จะเป็นการช่วยสงวน และขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ ให้เหมือนกับสภาพเดิมที่เคยเป็นอยู่ ซึ่งถ้าไม่มีบันไดปลาแล้ว ปลาจะว่ายข้ามสันฝาย หรือผ่านเขื่อนระบายน้ำไปได้ยาก เพราะน้ำที่ไหลข้ามฝาย หรือผ่านเขื่อนระบายน้ำมานั้นมีความแรงมาก
บันไดปลา
จ. ประตูเรือแพสัญจร ในลำน้ำที่ใช้เป็นทางคมนาคมด้วยนั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างอาคารสำหรับให้ เรือและแพซุงผ่านไปมาได้ โดยสร้างไว้ทางด้านใดด้านหนึ่งติดกับเขื่อนทดน้ำ หรือในบริเวณที่เหมาะสม ใกล้ๆ กับตัวเขื่อน ประตูเรือแพสัญจรนี้ นอกจากจะสร้างคู่กับเขื่อนทดน้ำแล้ว ยังจะต้องสร้างคู่กับ อาคารทดน้ำของคลองส่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เป็นทางคมนาคมด้วยเสมอ ประตูเรือแพสัญจรนี้อาจเรียกกันทั่ว ไปอีกอย่างหนึ่งว่า "ประตูน้ำ"
ประตูเรือแพสัญจร
ลักษณะของประตูเรือแพสัญจร ประกอบด้วยร่องหรือ อ่างพักน้ำขนาดใหญ่พอที่จะให้เรือและแพผ่านไปมาได้ ซึ่งทั้งทางด้านหน้า และด้านท้ายของร่องน้ำจะติดตั้งบานประตูสำหรับเปิด และปิดไว้ เมื่อเรือและแพซุงจะผ่านไปทางด้านท้ายเขื่อน บานประตูด้านท้ายของร่องน้ำหรืออ่างพัก ซึ่งปิดไว้ ทำให้ระดับน้ำ ในอ่างพักเท่ากับระดับน้ำด้านหน้าเขื่อน เมื่อเรือและแพซุงผ่านเข้ามาในอ่างพักแล้ว จึงปิดบานประตูด้านหน้า แล้วระบายน้ำ ในอ่างพักออกทางช่องระบายน้ำ จนระดับน้ำในอ่างพักเท่ากับระดับน้ำทางด้านท้ายเขื่อน จึงจะเปิดประตูให้เรือและแพออก ไป หากจะนำเรือผ่านขึ้นไปด้านเหนือเขื่อน ก็เปิดบานประตู ทางด้ายซ้าย รับเรือเข้าไปในอ่างพัก ในขณะที่บานประตูทางด้านเหนือเขื่อนยังปิดอยู่ หลังจากนั้นจึงปิดบานประตูด้านท้าย พร้อมกับระบายน้ำจากด้านหน้าเขื่อนเข้าไปในอ่างพัก จนมีระดับน้ำเท่ากัน แล้วจึงเปิดบานประตูด้านหน้าให้เรือผ่านออกไปทาง ด้านเหนือเขื่อนได้