เล่มที่ 7
การชลประทาน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เขื่อนทดน้ำ

            เมื่อแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะใช้เป็นต้นน้ำของโครงการชลประทานประเภทอาศัยแรงดึงดูดของโลก มีน้ำไหลมาจำนวนมากเพียงพอ และมีปริมาณค่อนข้างสม่ำเสมอในฤดูการเพาะปลูกแล้ว ก็มักจะนิยมยกน้ำให้มีระดับสูง ก่อนส่งเข้าคลองส่งน้ำ ด้วยวิธีการทดน้ำ โดยการสร้างอาคารทดน้ำขวางลำน้ำธรรมชาติหรือแหล่งน้ำ เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการยกน้ำโดยวิธีอื่น วิธีการทดน้ำดังกล่าวจึงเหมาะกับโครงการชลประทานทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่มีขนาดใหญ่นั้น
เขื่อนทดน้ำแบบเขื่อนระบายน้ำ
เขื่อนทดน้ำแบบเขื่อนระบายน้ำ
            อาคารทดน้ำ ซึ่งสร้าง เพื่อทดน้ำในลำน้ำธรรมชาติ ที่ต้นน้ำของโครงการชลประทานให้มีระดับสูงขึ้นนี้ เรียกว่า "เขื่อนทดน้ำ"

            เขื่อนทดน้ำส่วนมากจะสร้างอยู่ที่บริเวณต้นน้ำของโครงการชลประทาน ซึ่งมีระดับพื้นที่สูงที่สุด โดยที่เมื่อน้ำถูกทดอัดจนสูง และส่งเข้าคลองส่งน้ำไปแล้ว จะทำให้น้ำในคลองส่งน้ำมีระดับสูงกว่าพื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่ ที่อยู่ภายในเขตโครงการนั้น ทำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้รับน้ำชลประทานจากคลองส่งน้ำอย่างทั่วถึง

            เขื่อนทดน้ำอาจมีรูปร่างอาคารเป็นแบบฝาย หรือเป็นแบบเขื่อนระบายน้ำก็ได้