เล่มที่ 38
แก้วมังกร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ประเทศไทยมีผลไม้หลากชนิดตามฤดูกาลและนอกฤดู ส่วนมากเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย นักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร ส่วนใหญ่แล้วชื่นชอบผลไม้ไทย

            การนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ข้อพึงสังเกตเรื่องผลิตผลที่นำเข้า ไม่ว่าจะเป็นผักหรือผลไม้ ส่วนใหญ่มักด้อยคุณภาพ เพราะเก็บเกี่ยวผลิตผลซึ่งยังไม่แก่พอ หรือเก็บรักษาผลไม้ไว้นานก่อนขนส่งลงเรือ เช่น ผลแอปเปิล ซึ่งเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นที่มีสภาวะบรรยากาศควบคุมได้เป็นระยะเวลานานสำหรับจำหน่ายนอกฤดู นอกจากนี้ อาจมีทั้งแมลงศัตรูพืชและโรคพืชติดมา ตลอดจนสารพิษปราบศัตรูพืช อาจปนเปื้อนหรือตกค้างเกินพิกัดความปลอดภัย ซึ่งต้องดูแลให้ทั่วถึง และที่สำคัญสินค้าประเภทนี้มีผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกรไทยโดยตรง ดังนั้น การทำข้อตกลง ความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศต้องพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบ อย่าได้เสียเปรียบ อย่างเช่นเรื่อง กระเทียมและส้ม ดังที่ผ่านมา


            อนึ่ง คนไทยทุกคนก่อนซื้อผลไม้ต้องคิดพิจารณาให้ดี ต้องคิดถึงของดีของสด มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเศรษฐกิจของชาติ โดยต้องอุดหนุนผลิตผลไทยไว้ก่อนเป็นอันดับแรก

            ก่อนหน้าทศวรรษเศษที่ผ่านมานั้น คนไทยทั่วไปไม่รู้จักผลแก้วมังกร ในช่วงแรกๆ ผลไม้ชนิดนี้มีรสชาติไม่อร่อยนัก ในทัศนะ ของคนหลายๆ คน เกษตรกรและนักวิชาการเกษตรไทยช่วยกันพัฒนาจนทำให้คุณภาพผลแก้วมังกรไทยดีขึ้นตามลำดับ ทั้งคุณภาพและรสชาติ ตลอดจนผลิตผลต่อไร่ก็เพิ่มขึ้นด้วย จนได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นในประเทศ ประกอบกับ มีการรณรงค์ให้คนไทยรับประทานผักและผลไม้มากขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม โดยรับประทานผักและผลไม้วันละ ๕ สี คือ เขียว ม่วง แดง ขาว เหลือง สีละ ๑ หน่วยบริโภค ซึ่งมีน้ำหนักหน่วยละ ๑๐๐-๑๕๐ กรัม ขณะที่คนไทยสนใจแก้วมังกรมากขึ้น คนทั่วโลกก็ตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน หลายประเทศให้ความสนใจมากขึ้นตามลำดับ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพราะแก้วมังกรเป็นผลไม้สุขภาพที่สำคัญชนิดหนึ่ง

            การปลูกแก้วมังกรเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยน่าจะกล่าวได้ว่า เริ่มต้นด้วยเกษตรกรไทยมืออาชีพ มีความสามารถผลิตแก้วมังกร ที่มีคุณภาพดีได้ แต่ยังมีอุปสรรคปัญหาในเรื่องวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐและนักวิชาการต้องไม่มองข้าม ที่จะให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง มีวิสัยทัศน์ดีและถูกต้อง การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพื่อให้เกษตรกรรับทราบเท่านั้น แต่ต้องให้ปฏิบัติได้และเกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย ทั้งต่อตนเองและประเทศชาติในที่สุด