การเลือกซื้อแก้วมังกร
การเลือกซื้อผลแก้วมังกร ควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
๑. ลักษณะผลที่ควรเลือกซื้อ
ผลแก้วมังกรที่ดีและอร่อยไม่จำเป็นต้องเป็นผลขนาดใหญ่หรือใหญ่มาก ผลปกติแม้จะเล็กแต่ไม่ใช่ผลแกร็นก็อร่อย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ฤดูกาล และแหล่งปลูกด้วย อาจอนุโลมอ้างอิงบางประเด็นจากมาตรฐานผลแก้วมังกร (pitahayas) ของโคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งเป็นมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือมาตรฐานขององค์การสหประชาชาตินั่นเอง แก้วมังกรควรเป็นผลที่แก่ได้ที่ และไม่เสียหาย แม้กลีบผลจะเหลืองและเหี่ยวบ้างเล็กน้อย (ผลแก่เกินไป) ก็ยอมรับได้
ผลที่เจริญเติบโตและแก่ได้ที่
๒. รสชาติ
รสชาติของเนื้อเป็นประเด็นสำคัญที่นำมาใช้พิจารณา ผลที่แก่ได้ที่หรือแก่พอดี เนื้อควรมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย โดยมีความหวานอย่างน้อย 13% Brix ความหวานของเนื้อผลเป็นความหวานแบบ "ใสๆ" ไม่ "เข้ม" เหมือนเช่นเนื้อผลมะม่วง และมีปริมาณกรด (ความเปรี้ยว) ร้อยละ ๐.๒๕-๐.๓ ผลที่มีคุณภาพชั้นพิเศษควรมีเนื้อแน่นดี สดสมบูรณ์ บางพันธุ์มีเนื้อละเอียด นิ่มเล็กน้อยแต่คุณภาพดี ในกรณีผลที่ไม่แก่พอ เนื้อย่อมมีรสเปรี้ยวและหวานน้อย ส่วนผลที่แก่เต็มที่รสเปรี้ยวก็ลดลง และเนื้อก็แน่นน้อยกว่า
ผลที่เจริญเติบโตและยังแก่ไม่ได้เต็มที่
เนื้อผลแก้วมังกรมีรสชาติหวานแบบใสๆ ซึ่งความหวานจะมากหรือน้อย หรือหวานแหลม (หวานอมเปรี้ยว) หรือกลมกล่อม ก็ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ฤดูกาล การดูแลรักษา อายุผลขณะเก็บเกี่ยว และแหล่ง (สวน) ที่ผลิต นอกจากนี้ ผลแก้วมังกรบางพันธุ์ อาจมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน และบางพันธุ์ก็มีกลิ่นเฉพาะ "กลิ่นเขียว" เล็กน้อย ซึ่งหลายคนอาจชอบ มีรายงานว่า กลิ่นดังกล่าว เกิดจากสารเคมี "linalool" พวกแอลกอฮอล์เทอร์ปีน (terpene alcohol) ซึ่งเป็นกลิ่นของดอกไม้และพืชเครื่องเทศบางชนิด กล่าวกันว่า ผลนำเข้าส่วนมากมี "กลิ่นเขียว" จัด
สีของเนื้อแก้วมังกร ซึ่งมีรสหวานแหลม (หวานอมเปรี้ยว)
๓. สีของเนื้อแก้วมังกร
ตามหลักของการรับประทานผักและผลไม้วันละ ๕ สี เนื้อแก้วมังกรสีใดก็ดีทั้งนั้น แต่สีแดง สีน้ำเงิน และสีม่วง เป็นสีที่มีอยู่ในผัก และผลไม้น้อยชนิด ฉะนั้น เมื่อจะรับประทานผลแก้วมังกร ชนิดที่ควรเลือกคือ เนื้อสีแดงเข้ม เนื้อสีแดงเข้มอมม่วง (margenta) และเนื้อสีชมพูกับสีชมพูที่มีสีม่วงซ่อนอยู่ เป็นชนิดที่ควรได้รับความใส่ใจ
สีแดงของเนื้อแก้วมังกร
การรับประทานผลแก้วมังกรเนื้อสีแดงเข้ม หรือสีแดงเข้มอมม่วง ในปริมาณ ๑๕๐ กรัม ต่อ ๑ หน่วยบริโภค (มาก-น้อยต่างกัน ในแต่ละคน) ในวันรุ่งขึ้น อาจขับถ่ายอุจจาระมีสีแดงสดคล้ายเลือดปนออกมา บางคนอาจมีการขับปัสสาวะเป็นสีเลือด ในเรื่องนี้ มีรายงานทางการแพทย์ว่า ผู้รับประทานเนื้อแก้วมังกรสีแดงเป็นจำนวนมาก อาจเกิดภาวะ ซูโดฮีมาทูเรีย (pseudohematuria) หรือ "ภาวะสีเลือดเทียมในปัสสาวะ" โดยขับปัสสาวะที่มีสีแดง ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะไม่ใช่การขับถ่ายเม็ดเลือดแดงออกมา