เล่มที่ 38
แก้วมังกร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พันธุ์แก้วมังกร

            ประเทศไทยได้พันธุ์แก้วมังกรเนื้อสีขาวมาจากประเทศเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ โดยบาทหลวงชาวเวียดนาม และคนไทย ที่ไปท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจ แล้วนำกิ่งพันธุ์มาปลูกแบบสมัครเล่น หรือสั่งกิ่งพันธุ์จำนวนมากเข้ามาปักชำจำหน่าย กิ่งพันธุ์ที่นำเข้ามาขณะนั้นคงไม่มีการคัดเลือกพันธุ์ จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๔๑ สวนแก้วมังกรบ้านโป่ง ได้ศึกษาต้นแก้วมังกรที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๕ สายพันธุ์ โดยมีการรวบรวมจากแหล่งต่างๆ แล้วนำมาคัดพันธุ์ พบว่า สมาชิกในกลุ่ม มีต้นแก้วมังกรพันธุ์เบอร์ ๑๐๐ ซึ่งมีเนื้อสีขาว ต้นพันธุ์มีลักษณะดี ลำต้นแข็งแรง ให้ผลผลิตต่อไร่ดี และหากให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม จะได้ผลิตผลที่มีคุณภาพดี ทรงผลและผิวสวย รวมทั้งเนื้อมีรสชาติดี   


ต้นแก้วมังกรอาจออกแต่ดอก และไม่ติดผลหรือให้ผลน้อย

            ช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน มีพ่อค้าพันธุ์ไม้ท้องถิ่นนำต้นแก้วมังกรที่ขึ้นเองตามหมู่บ้าน โดยไม่ได้มีการปลูก ซึ่งออกแต่ดอก ไม่ติดผลหรือติดผลน้อยมาขยายพันธุ์จำหน่าย รวมทั้งมีผู้นำแก้วมังกรจากวัดแห่งหนึ่งมาตั้งชื่อและขยายพันธุ์จำหน่าย นอกจากนี้ ยังมีพ่อค้าและชาวสวนไต้หวันได้นำพันธุ์แก้วมังกรเนื้อสีแดงจากประเทศไต้หวัน เรียกชื่อว่า "แดงไต้หวัน" มาปลูกและขยายพันธุ์ จำหน่าย ซึ่งให้ผลขนาดไม่สม่ำเสมอ และมีจำนวนไม่มากพอ ต่อมาก็มีการจำหน่ายแก้วมังกรพันธุ์เนื้อสีแดงไร้หนาม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นพันธุ์ที่มีหนาม แต่หนามสั้นและหลุดง่ายเมื่อต้นแก่ มีการจำหน่ายต้นพันธุ์ทั้งพันธุ์เนื้อสีแดงและเนื้อสีขาว ซึ่งได้รับความนิยมมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป ส่วนการปลูกแก้วมังกรในประเทศไทย ชาวสวนส่วนใหญ่ต่างคนต่างทำตามอัธยาศัย ไม่มีการจัดตั้งขึ้นเป็นชมรมหรือสมาคม มีการสื่อสารกันบ้างทางอินเทอร์เน็ต ภาครัฐมีเฉพาะนักวิชาการอาชีพที่ให้ความสำคัญ โดยให้คำแนะนำในเรื่องศัตรูพืชตามเหตุการณ์ แม้ว่าจะกล่าวถึงการส่งเสริม แต่ก็ไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น ข้อมูลของแก้วมังกร จึงมีไม่ครบถ้วนสมบูรณ์


ผลแก้วมังกรพันธุ์แดงไต้หวัน

            แก้วมังกรพันธุ์ใหม่ล่าสุดมีเนื้อสีชมพู ชื่อว่า "พิ้งกี้ช้อยซ์" (PINKY CHOICETM) ได้มาจากผล ของโครงการสร้างแก้วมังกรพันธุ์ใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๓ ด้วยการผสมละอองเกสรพันธุ์เบอร์ ๑๐๐ กับดอกตัวเมียพันธุ์เนื้อสีแดงชมพู (พันธุ์ทับทิมสยาม) โดยทำการศึกษาและคัดต้นลูกผสมที่ไม่ได้คุณสมบัติตามเป้าหมาย นำออกไปทำลายทิ้งเป็นจำนวนมาก จนได้พันธุ์นี้ที่ให้รสหวาน 16% Brix* ซึ่งอมเปรี้ยวเล็กน้อย ตามคุณลักษณะที่ดีของผลไม้ ที่มีรสชาติและคุณภาพดี เป็นผลแก้วมังกรที่มีเนื้อสีชมพูสวยและมีรสชาติอร่อยมาก ให้ผลผลิตดี โดยผลมีขนาดน้ำหนักเฉลี่ย ๓๘๕±๑๐๐ กรัม อนึ่ง การที่มีรสอมเปรี้ยวทำให้รสชาติของเนื้อแก้วมังกรไม่หวานเต็มที่เหมือนกับเนื้อที่ไม่อมเปรี้ยว


ผลแก้วมังกรพันธุ์พิ้งกี้ช้อยซ์
มีเนื้อสีชมพู

            ปัจจุบันไม้ผลแก้วมังกรมีการปลูกกันทั่วประเทศไทย ผลไม้นี้ วางจำหน่ายทั่วประเทศและส่งออกบ้าง ซึ่งได้รับคำชมว่า ผลแก้วมังกรของไทย มีคุณภาพดี แม้จะมีบางส่วนที่คุณภาพไม่ดี เสี่ยงต่อการ "ปิด" ตลาด แทนที่จะไปเปิดตลาดตามที่คาดหมายไว้

*Brix คือ หน่วยวัดของแข็งที่ละลายน้ำได้ ในกรณีผลไม้ ถือเป็นความหวาน