เล่มที่ 38
แก้วมังกร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พันธุ์และเครือญาติของแก้วมังกร

            พันธุ์แก้วมังกรที่มีชื่อต่างๆ นั้นเป็นชื่อที่ตั้งตามความประสงค์ของเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยอาศัยลักษณะความหมายที่สามารถอธิบาย ต้นพืชและผลิตผลนั้นๆ ได้ และเป็นมงคลด้วย กรณีแก้วมังกรที่เรียกตามสีเนื้อข้างต้น คือ กลุ่มเนื้อสีขาว สีแดง และสีชมพู เป็นการเรียกในด้านการค้า และความนิยมในการบริโภคตามสี ไม่ได้เรียกตามหลักพฤกษศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีระบบการตั้งชื่อเป็นขั้นตอน ดังนั้น แก้วมังกรอยู่ในอาณาจักรพืช มีขั้นตอนในการจำแนกเป็นชั้นๆ ลงมาจนกระทั่ง ถึงชั้นวงศ์กระบองเพชร (Cactaceae family) ในวงศ์ประกอบด้วยสกุล (genus) ต่างๆ และในสกุลก็ประกอบด้วยชนิด (species ตัวย่อ sp.) ต่างๆ ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช หรือสิ่งมีชีวิตทั่วไปก็ประกอบด้วยชื่อสกุล และชื่อชนิด ชื่อวิทยาศาสตร์ของแก้วมังกรเนื้อสีขาวที่รู้จักกันทั่วไปคือ Hylocereus undatus (Haw.) Britt. & Rose ชื่อต้องเป็นตัวอักษรเอนเสมอ หรือตัวตรงแต่ต้องขีดเส้นใต้ ชื่อที่ตามหลังชื่อวิทยาศาสตร์ได้แก่ผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของแก้วมังกร ในกรณีนี้ผู้ตั้งชื่อครั้งแรกอยู่ในวงเล็บ คือ Haw. ส่วน ๒ ชื่อหลัง คือ Britt. และ Rose เป็นผู้ปรับปรุงแก้ไขชื่อแก้วมังกรให้ถูกต้อง สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แสดงถึงวัฒนธรรมการเคารพให้เกียรติแก่ผู้ทำงานรุ่นก่อนๆ ไม่มีพฤติกรรมอกตัญญู ปล้นชิงเอาความดี ความสามารถของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องยกย่องและยึดถือนำมาปฏิบัติในวงการทั้งหลายในสังคมไทย บางครั้งเมื่อเขียนชื่อฉบับย่อก็อนุโลมให้เขียนเฉพาะชื่อวิทยาศาสตร์ได้ ไม่ต้องใส่ชื่อผู้ตั้งชื่อ


แก้วมังกรพันธุ์ผิวทอง

ต้นแก้วมังกรเป็นพืชพวกกระบองเพชรในวงศ์ Cactaceae ซึ่งมีอยู่หลายสกุล ที่สำคัญและน่าเรียนรู้คือ สกุล Hylocereus ซึ่งมีอยู่ ๑๘ ชนิด แต่ที่กล่าวถึงกันมากมี ๓ ชนิด และสกุล Selenicereus อีก ๑ ชนิด ทั้งหมดเป็นเครือญาติกัน คือ

๑. Hylocereus undatus (Haw.) Britt. & Rose มีเนื้อสีขาว-เปลือกสีแดง ซึ่งปลูกกันอยู่แล้วโดยมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์เบอร์ ๑๐๐

๒. H. costaricensis (Weber) Britt. & Rose เนื้อสีแดง-เปลือกสีแดง  

๓. H. polyrhizus (Weber) Britt. & Rose เนื้อสีแดง-เปลือกสีแดง เช่น พันธุ์แดงไต้หวัน พันธุ์แดงหนามสั้น (แดงหนามหลุด)

๔. Selenicereus megalanthus (Schum. ex Vaup.) Moran ผลมีเปลือกสีเหลือง (ทอง) ได้รับการตั้งชื่อว่า แก้วมังกรพันธุ์ผิวทอง มีเนื้อสีขาวขุ่นเล็กน้อย รสชาติดีมาก มีความหวานมากกว่า 20% Brix และราคาแพงมาก ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จำหน่ายราคากิโลกรัมละ ๒๔.๙๙ ปอนด์ ไม้ผลชนิดนี้ปลูกในประเทศไทยได้ยากมาก

            อนึ่ง แก้วมังกรลูกผสม โดยเฉพาะเนื้อสีชมพูพันธุ์พิ้งกี้ช้อยซ์ เป็นลูกผสมของแก้วมังกร พันธุ์เบอร์ ๑๐๐ (H. undatus) กับพันธุ์ทับทิมสยาม ซึ่งไม่ทราบชื่อ จึงต้องเรียกว่า H. sp. ชื่อวิทยาศาสตร์ของกรณีลูกผสมนี้จึงเป็น H. undatus X H. sp.
            
            สำหรับแก้วมังกรพันธุ์ผิวทอง Selenicereus megalanthus ซึ่งปลูกได้ยากมาก กำลังดำเนินการในโครงการสร้างพันธุ์ใหม่ โดยต้นพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกนี้มีรสชาติเหมือนต้นแม่ และมีคุณภาพดีกว่า ต้นพันธุ์ใหม่นี้ได้รับการตั้งชื่อว่า พันธุ์จักรพรรดิทองคำ หรือพันธุ์เอมเพอเรอร์โกลด์ (Emperor Gold) ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ S. sp. X S. megalanthus