ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยย่อและถิ่นกำเนิด
ต้นแก้วมังกรมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hylocereus undatus (Haw.) Britton & Rose ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป คือ ผลมีเนื้อสีขาว เปลือกมีสีแดงอมชมพู จัดอยู่ในวงศ์ Cactaceae (กระบองเพชร) เป็นพืชเลื้อย อวบน้ำ ประเภทวันยาว* ลำต้นจริงเป็นแกนกลาง อยู่ภายใน ที่เห็นเป็นลำต้นสามแฉก ส่วนผิวสีเขียวซึ่งแปลงรูปมาจากใบนั้นเป็นลำต้นเทียม สันแฉกมีลักษณะเคลือบแข็ง และเป็นหยักๆ ตรงโคนหยักเป็นแอ่งซึ่งมีหนามแข็งแหลมขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางโคนหนามขนาด ๐.๗-๑.๐ มิลลิเมตร) ๑-๓ หนาม และหนามยาว ๓-๖ มิลลิเมตร พื้นที่บริเวณโคนหนามทำหน้าที่เป็นตา เนื้อเยื่อภายใต้ตามีคุณสมบัติของเนื้อเยื่อเจริญ ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นตากิ่งหรือตาดอกได้ รากของแก้วมังกรมี ๒ ประเภท คือ รากลงดิน และรากอากาศ
หนาม
Pitaya (พิไทอา) หรือ pitahaya (พิทาไฮอา) คือชื่อของแก้วมังกรในภาษาสเปนซึ่งเรียกกันในถิ่นกำเนิด หมายถึง ไม้ผล และผลไม้ ที่มีผลสวยที่สุดในวงศ์กระบองเพชร แก้วมังกรมีถิ่นกำเนิดในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก ชายฝั่งแปซิฟิก ของประเทศกัวเตมาลา คอสตาริกา และเอลซัลวาดอร์ พบมีปลูกกันทั่วไปในพื้นที่ราบต่ำของทวีปอเมริกาเขตร้อน ชาวฝรั่งเศสได้นำพันธุ์มายังประเทศเวียดนามเมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา มีการปลูก ขยาย คัดเลือก และปรับปรุงพันธุ์ ทำให้เวียดนามมีพันธุ์แก้วมังกรที่ดีกว่าต้นดั้งเดิมในทวีปอเมริกา จนคนทั่วไปหรือแม้แต่ชาวเวียดนามบางคนก็เข้าใจว่า แก้วมังกรมีถิ่นกำเนิดในเวียดนาม ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด ต่อมาเมื่อเกิดสงครามในประเทศเวียดนาม ทำให้การปลูกแก้วมังกรในประเทศนี้หยุดชะงัก จนใน พ.ศ. ๒๕๓๓ เวียดนามจึงได้ขยายการปลูกแก้วมังกร ซึ่งตรงกับช่วงระยะเวลาที่ผลแก้วมังกรเนื้อสีขาวมีวางจำหน่ายในฮ่องกง
รากอากาศ
*พืชที่ออกดอกในภาวะช่วงกลางวันยาวมากกว่ากลางคืน ความยาวของเวลาช่วงกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันในรอบปี เช่น ในฤดูร้อนช่วงกลางวันยาวกว่าในฤดูหนาว