การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวผล
ผลแก้วมังกรที่เก็บเกี่ยวมายังมีชีวิต จึงมีการหายใจซึ่งทำให้สูญเสียสารอาหารที่สะสมไว้ และการคายน้ำ ทำให้ผลไม้แสดงอาการเหี่ยว โดยเฉพาะกลีบผลจะเหี่ยวก่อน ทำให้รสชาติเปลี่ยนไป ผลที่เก็บเกี่ยวมามักมีฝุ่นเกาะติดบ้าง อาจมีเชื้อโรคหรือแมลงติดและแอบแฝงมาด้วย หลังเก็บเกี่ยวต้องนำผลใส่ภาชนะ เช่น ตะกร้าพลาสติก ความจุไม่เกิน ๕ กิโลกรัม นำเข้าในที่ร่มโดยเร็ว ห้ามวางผลบนพื้นดิน
ผลแก้วมังกรบรรจุในตะกร้าพลาสติก
๑. การเตรียมผลเพื่อจำหน่าย
เนื่องจากแก้วมังกรเป็นผลไม้สด อวบน้ำ เปลือกไม่แข็งแรง เป็นผลไม้ที่เน่าเสียง่ายชนิดหนึ่ง จึงจำเป็นต้องเอาใจใส่ ระมัดระวัง อย่าให้ช้ำ ทั้งภายนอกและเนื้อ ตลอดจนกระบวนการทำความสะอาด การเลือก การคัดผลที่ดีสมบูรณ์ตามขนาดที่ผู้บริโภคต้องการ การสวมตาข่ายโฟม การใส่บรรจุภัณฑ์ การขนย้ายและขนส่ง
ผลแก้วมังกรพันธุ์เนื้อแดง (พันธุ์เบอร์ ๑๐๐) จัดเป็นคุณภาพชั้นพิเศษ รหัส H
๒. ผลแก้วมังกรตามมาตรฐานของโคเด็กซ์ (Codex)
การค้าผลแก้วมังกรในประเทศมีมาตรฐานที่ใช้กับคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ เช่น ใช้ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และจัมโบ้ หรือเกรดเอ เกรดบี และเกรดซี ในกรณีเกรดเอ มักระบุให้มีขนาดใหญ่ รูปทรงสวยตามพันธุ์ ผิวเปลือกดี ไม่เน่าเสีย และรสชาติดี โดยทั่วไป ผักและผลไม้สดของทุกประเทศต่างมีมาตรฐานท้องถิ่นอยู่ ซึ่งไม่สะดวกที่จะใช้กันระหว่างประเทศ ประเทศเม็กซิโก ได้เสนอต่อองค์การสหประชาชาติ ให้จัดทำมาตรฐานผักผลไม้สดระหว่างประเทศขึ้น โดยอยู่ภายใต้คณะกรรมาธิการกฎหมายอาหาร (The Codex Alimentarius Commission) หรือเรียกย่อๆ ว่า "โคเด็กซ์" (Codex) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ ๒ หน่วยงาน ในองค์การสหประชาชาติ คือ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) โดยมี FAO เป็นเจ้าภาพ
มาตรฐานของโคเด็กซ์สำหรับผลแก้วมังกร (pitahayas) ครอบคลุมผลแก้วมังกร ๒ สกุล คือ Hylocereus และ Selenicereus ที่มีสาระสำคัญคือ คุณภาพขั้นน้อยที่สุดของผล ต้องเป็นผลไม้สดทั้งผล สะอาด ไม่เน่าเสีย ไม่มีรอยปริแตก ไม่มีศัตรูพืช กลิ่นและรสชาติปกติ มีขั้วผลติดมายาว ๑๕-๒๕ มิลลิเมตร และผลในสกุล Selenicereus (ผลพันธุ์ผิวทอง) ไม่มีหนามติดมา ทั้งนี้ ผลแก้วมังกรแบ่งออกเป็น ๓ ชั้นคุณภาพ คือ ชั้นพิเศษ ชั้น ๑ และชั้น ๒ โดยไม่นำขนาดผลมาเป็นตัวกำหนดชั้นคุณภาพ แต่ขนาดกำหนดเป็นรหัสขนาดด้วยน้ำหนักตามตาราง ดังนี้
จะเห็นได้ว่า มาตรฐานของโคเด็กซ์เปิดโอกาสให้ผลไม้ขนาดเล็กเป็นผลไม้ชั้นพิเศษ หรือชั้น ๑ ได้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า หน่วยขนาดเล็กมีสาเหตุจากพันธุ์ จากเมล็ดลีบ อายุการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ จะต้องยกเว้นพวกที่ผิดปกติและผลแกร็น นอกจากนี้ มาตรฐานของโคเด็กซ์ยังมีข้อกำหนดที่ว่าด้วย ความคลาดเคลื่อนทั้งด้านคุณภาพและขนาดผล ข้อกำหนดการบรรจุ การติดฉลาก และที่สำคัญคือ ข้อกำหนดด้านสารปนเปื้อน ได้แก่ข้อโลหะหนัก ข้อสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง และข้อกำหนดสุขอนามัย ซึ่งสำคัญมาก ในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร