การปลูกแก้วมังกร
๑. สภาวะที่เหมาะสม
พื้นที่ปลูกแก้วมังกรควรพ้นจากน้ำท่วมและปลอดภัยจากพายุ การขนส่งดี สภาพพื้นที่ราบ ไม่ลาดชันเกินเกณฑ์ที่กำหนด ของการอนุรักษ์ดิน ดินเป็นดินร่วนมีอินทรียวัตถุในปริมาณที่เหมาะสม หน้าดินควรลึกอย่างน้อย ๖๐ เซนติเมตร และดินมีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อนๆ ค่าพีเอช (pH) ประมาณ ๖.๕ ถ้าดินเป็นกรดมาก ก็ต้องแก้ไขด้วยการเติมสารเคมี เช่น ปูนขาว ปูนมาร์ล โดโลไมต์ ซึ่งควรมีการนำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ก่อน เพื่อให้ได้ข้อมูลของดิน ทั้งในด้านเคมี กายภาพ และชีวภาพ สำหรับนำมาปรับคุณสมบัติของดินให้เหมาะกับการปลูกแก้วมังกร สภาพพื้นที่ควรมีการระบายน้ำดี ฝนไม่ชุกเกินไป ในหน้าแล้ง มีน้ำรด นอกจากนี้ อุณหภูมิไม่ร้อนจัดมากหรือหนาวเย็นมาก ไม่มีลูกเห็บ และมีแสงแดดตลอดทั้งวัน
๒. การเตรียมแปลงปลูก
ควรปรับพื้นที่ให้ได้ระดับที่สม่ำเสมอกัน แปลงปลูกควรกว้าง ๓.๐๐ เมตร ส่วนความยาวของแปลงแล้วแต่พื้นที่ แต่ไม่ควรให้ยาวมากนัก และระหว่างแปลงมีร่องระบายน้ำกว้าง ๐.๕๐ เมตร ลึก ๐.๕๐ เมตร ทั้งนี้ ต้องไถที่ยกแปลง ทำร่องให้เรียบร้อยตามวิธีการอนุรักษ์ดิน หรืออาจทำแปลงให้มีลักษณะเป็นหลังเต่า
พื้นที่ปลูกแก้วมังกรที่เหมาะควรยกเป็นแปลง ให้พ้นจากน้ำท่วมขัง
๓. ระยะปลูกและการทำร้าน
แก้วมังกรเป็นไม้ผลประเภทเลื้อย จำเป็นต้องมีหลักปลูกและร้านเล็กๆ ด้านบน โดยระยะหลักห่างกัน ๓.๐๐ เมตร ระยะระหว่างแถว ที่เหมาะสมคือ ๓.๕๐ เมตร หรือขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ตามประวัติของการทำหลักสำหรับให้ต้นแก้วมังกรเลื้อยขึ้นไปในอากาศ ให้พ้นพื้นดินนั้น ในการปลูกระยะแรกๆ มีการใช้ท่อปูนระบายน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ นิ้ว ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นขนาด ๘ นิ้ว แล้วมาเป็นเสารั้วคอนกรีตอัดแรง ๓.๕ นิ้ว เพื่อความแข็งแรง และอาจมีคานพาดยึดระหว่างหลัก หลักปลูกควรให้อยู่โผล่พ้นพื้นดิน ๑.๖๐-๑.๗๐ เมตร สำหรับร้านนั้น ควรเป็นร้านสี่เหลี่ยม ขนาด ๐.๓๐ หรือ ๐.๔๐ เมตร โดยอาจเลือกใช้ไม้เนื้อแข็ง เหล็ก ยางรถเล็ก หรือรถจักรยานยนต์ และคอนกรีตเสริมเหล็ก แล้วแต่จะเลือกใช้ เกษตรกรบางรายไม่นิยมใช้ร้าน
๔. การเลือกพันธุ์และต้นพันธุ์
การปลูกแก้วมังกรต้องเน้นที่พันธุ์ แก้วมังกรที่นิยมปลูกกันแบ่งเป็น ๓ กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเนื้อสีขาว กลุ่มเนื้อสีแดง และกลุ่มเนื้อสีชมพู ซึ่งกลุ่มหลังนี้ เริ่มมีการนำมาปลูก เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่ไม่ชอบเนื้อสีแดง
ต้นแก้วมังกรที่สมบูรณ์กำลังแตกกิ่งชุดใหม่
การที่จะเลือกปลูกแก้วมังกรพันธุ์ใด ก็ควรศึกษาให้ถ่องแท้จากผู้รู้ที่เชื่อถือได้ และเลือกต้นพันธุ์ที่ทรวดทรงดี ไม่มีโรค และแมลงรบกวน มีลักษณะแข็งแรงซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบรากที่แข็งแรง ประเทศไทยปลูกแก้วมังกรมาได้ ๑๐ กว่าปี ตอนเริ่มต้นปลูกกันใหม่ๆ คนไทยไม่รู้จักแก้วมังกร จึงไม่รู้ว่า แก้วมังกรบางพันธุ์หรือบางชนิด ดอกไม่ผสมตัวเอง ต้องอาศัยละอองเกสรจากต้นอื่น หรือพันธุ์หรือชนิดอื่นจึงจะติดผลได้ดี และผลอาจมีขนาดใหญ่กว่าปกติได้ บางพันธุ์และบางชนิด นำมาปลูก เพื่อการสะสม หรือเพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น
๕. แหล่งต้นพันธุ์
ชาวสวนไทยและคนไทยมักได้รับพันธุ์ต้นไม้ที่จะปลูกจากคนที่รู้จักกัน หรือจากการแนะนำ การโฆษณา (ชวนเชื่อ) หรือได้ฟรี ซึ่งมีตัวอย่างที่ผู้ปลูกแก้วมังกรแล้วต้องทำลายต้นทิ้ง เช่น ปลูกต้นพันธุ์ที่ให้แต่ดอก หรือมีต้นพันธุ์ที่ยังไม่มีการศึกษาถึงคุณสมบัติ ของต้นนั้นๆ การตัดสินใจที่จะเลือกต้นพันธุ์ปลูกจึงมีความสำคัญมาก ควรจะศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด โดยสอบถามจากผู้รู้ ที่เชื่อถือได้ สถานศึกษา และหน่วยราชการที่มีหน้าที่โดยตรง ซึ่งน่าจะให้คำตอบที่กระจ่างได้ อย่าได้หลงเชื่อในคำโฆษณา เพราะโฆษณามักเป็นการชักชวนให้หลงเชื่อ บอกแต่ข้อดีอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่บอกข้อเสียแต่อย่างใด
๖. การปลูก
หลักปลูก ๑ หลัก ปลูกแก้วมังกรได้ ๓-๔ ต้น (จำนวนต้นขึ้นอยู่กับผู้ปลูกจะพิจารณา) โดยกระจายการปลูกให้ห่างเท่าๆ กัน และห่างจากหลัก ปลูก ๒๐-๒๕ เซนติเมตร หลุมปลูกควรขุดขนาด ๓๐x๓๐ เซนติเมตร และลึก ๓๐ เซนติเมตร ดินปลูก ควรผสมด้วยแกลบดำและปุ๋ยหมัก (ห้ามใช้ปุ๋ยคอกสดโดยเด็ดขาด) อย่างละ ๑ ถังปูน ปลูกต้นพันธุ์ที่เตรียมไว้ตรงกลางหลุม การปลูกต้องปลูกไม่ลึก ให้ปลูก "ตื้น" ไว้ แต่ไม่ควรให้รากลอย อาจมีกิ่งไม้ปักเป็นหลักที่โคนต้น แล้วผูกต้นให้แนบกับหลัก การย้ายต้นพันธุ์ลงหลุมปลูกควรระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนระบบรากมากจนเกินไป หลังปลูกให้รดน้ำทันที แล้วหาวัสดุ เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ ทางมะพร้าว หรือตาข่ายพรางแสง (ซาแลน) 60% มาบังแดดให้ประมาณ ๗ วัน
หลักปลูก ๑ หลัก ปลูกแก้วมังกรได้ ๓-๔ ต้น