การจำหน่าย
แก้วมังกรที่มีคุณภาพดีย่อมเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค การจำหน่ายก็ง่ายขึ้น การจำหน่ายมีทั้งจำหน่ายที่สวน ทั้งปลีกและส่ง จำหน่ายออกสู่ตลาดในกรุงเทพฯ ตลาดกลาง และจะจำหน่ายในราคาเท่าใด เกษตรกรควรคิดต้นทุนได้ ทั้งนี้ ต้องลงบัญชีค่าใช้จ่าย ทุกรายการ โดยไม่ลืมคิดค่าแรงของตนเองและแรงงานในครอบครัวด้วย ราคาจำหน่ายอาจได้กำไรหรือขาดทุนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ และวิธีการทางบัญชี
การคัดและบรรจุผลแก้วมังกรลงในบรรจุภัณฑ์ เพื่อส่งจำหน่าย
การจำหน่ายที่ดีคือ จำหน่ายที่สวน เพราะผ่านขั้นตอนน้อย ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน และช่วยบรรเทาปัญหาโลกร้อนขึ้นได้อีกทางหนึ่ง หากจำหน่ายปลีกที่สวน เกษตรกรสามารถจำหน่ายในราคาถูกกว่าราคาจำหน่ายปลีกตามตลาดหรือร้านค้า และจะได้มูลค่าดีด้วย การจัดระบบให้เกษตรกรจำหน่ายผลิตผลที่แหล่งผลิต จะช่วยให้ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างมาก การคัดชั้นคุณภาพ หากประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานของตนเอง เกษตรกรอาจใช้มาตรฐานผสมผสาน โดยอ้างอิงมาตรฐานของโคเด็กซ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ พิเศษ หนึ่ง และสอง ส่วนขนาดอาจใช้ ๕ ขนาด ได้แก่ จิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ และจัมโบ้ (ไม่ใช้กับแก้วมังกรพันธุ์ผิวทอง) สำหรับผลิตผลที่ดีที่สุดย่อมตั้งราคาได้แพงที่สุด และราคาลดหลั่นลงไปตามคุณภาพ ทั้งนี้ การซื้อ และการจำหน่ายมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามาก ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ การตลาด และจิตวิทยา