๒. การให้น้ำ
การปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรได้กำหนดให้น้ำเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาอันดับแรก คุณภาพของน้ำมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปริมาณที่พอดีที่พืชต้องการ ถ้าให้มากเกินควรก็เกิดผลลบ ทั้งสูญเสียน้ำ และอาจทำให้ต้นไม้ตายได้ แก้วมังกรเป็นพืชพวกกระบองเพชร เป็นสิ่งมีชีวิต จึงต้องการน้ำในการเจริญเติบโต และออกดอกติดผล ฉะนั้นจึงควรรักษาดินให้มีความชื้นสม่ำเสมอ เพื่อการเจริญเติบโตของแก้วมังกร จะได้ไม่หยุดชะงัก เมื่อฝนแล้งหรือในฤดูแล้ง ควรให้น้ำทุกๆ ๓-๗ วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของดิน การคลุมดิน อุณหภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อม เมื่อให้ปุ๋ยก็ต้องให้น้ำควบคู่กันไปเสมอ
๓. การให้ปุ๋ย
๑) ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี
การรณรงค์ให้ทำเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก โดยให้ใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสีย ดินแข็ง ข้อจริง คือ ผู้ใช้ปุ๋ยขาดฐานความรู้ความเข้าใจคุณสมบัติของปุ๋ยเคมีแต่ละชนิด รวมทั้งเรื่องการใช้ปุ๋ย และข้อเท็จ คือ ผู้กล่าวเรื่องนี้ ไม่กล่าวให้หมดถ้อยกระทงความ ความจริงแล้ว ปุ๋ยอินทรีย์ก็คือปุ๋ยเคมีกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นชนิดสารเคมีอินทรีย์ (organic chemical) ส่วนปุ๋ยเคมีก็คือ ปุ๋ยเคมีอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก แต่เป็นชนิดสารเคมีอนินทรีย์ (inorganic chemical) ซึ่งปุ๋ยทั้งคู่เป็นปุ๋ยเคมี เหมือนกัน โดยปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีต่างก็ให้ประโยชน์ในการเกษตรเหมือนกัน แต่ทำหน้าที่ต่างกันบ้าง ปุ๋ยอินทรีย์มีคุณสมบัติ ช่วยทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย คุณสมบัติทางกายภาพและด้านชีวภาพดี แต่มีคุณสมบัติทางเคมีด้านธาตุ อาหารพืชหลักปริมาณไม่มาก มีความหลากหลายของธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ ส่วนปุ๋ยเคมีนั้นมีปริมาณธาตุอาหารพืชหลักมาก ส่วนธาตุอาหารจุลธาตุมีจำกัด และมีคุณสมบัติเป็นกรด-ด่าง (เบส) ที่ต้องระวัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสูตรและชนิดของปุ๋ย ดังนั้น ดินที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติสมดุลทั้ง ๓ ปัจจัย คือ เคมี ชีวภาพ และกายภาพ โดยมีสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด ผู้ใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง โดยปกติปุ๋ยเคมี (อนินทรีย์) มีความเข้มข้นมากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ (เคมี) ประมาณ ๒๐-๕๐ เท่า
๒) ปริมาณปุ๋ย
หลักการให้ปุ๋ยสำหรับแก้วมังกร ยังไม่พบรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับการที่แก้วมังกรต้องใช้ปริมาณธาตุอาหารเท่าใด ในการผลิตราก กิ่ง ลำต้น ดอก และผล ซึ่งสำคัญ เพื่อที่จะนำไปประมาณการในการเติมธาตุอาหารกลับไปให้ต้นแก้วมังกร ดังนั้น คำแนะนำต่อไปนี้ จึงเป็นการประมาณการเบื้องต้น
หลังจากปลูกต้นแก้วมังกรได้ประมาณ ๒ สัปดาห์ ผู้ปลูกก็สามารถให้ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น ๑๖-๑๖-๑๖ หรืออาจใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุไนโตรเจนปริมาณมาก และมีฟอสฟอรัสปริมาณน้อย ใส่หลักละ ๑๕-๒๐ กรัมต่อเดือน เมื่อหมดหน้าฝน และเข้าสู่หน้าแล้ง ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ควรพรวนดินเบาๆ รอบใต้พุ่มต้น และใส่ปุ๋ยหมักหลักละประมาณ ๕ กิโลกรัม และใส่ซ้ำอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เมื่อแก้วมังกรมีอายุมากขึ้น จนอายุครบ ๑ ปี ก็ให้ใส่ปุ๋ยเคมีข้างต้นเพิ่มตามอายุ โดยให้ต่อหลักและต่อเดือน ตามกำหนดดังนี้
อายุ ๑.๐-๑.๕ ปี ให้ปุ๋ย ๓๐-๔๐ กรัม
อายุ ๑.๕-๒.๐ ปี ให้ปุ๋ย ๕๐-๖๐ กรัม
อายุ ๒.๐-๓.๐ ปี ให้ปุ๋ย ๘๐-๑๐๐ กรัม
ทั้งนี้ ให้เพิ่มปริมาณปุ๋ยมากขึ้นตามอายุ โดยเพิ่มประมาณร้อยละ ๒๕ การใส่ปุ๋ยเคมีนี้มีเพดานการใส่อยู่ที่ประมาณ ๒ กิโลกรัม ต่อหลักต่อปี ขึ้นอยู่กับสถานภาพของต้นแก้วมังกร และปริมาณผลผลิตต่อหลัก ให้หว่านเม็ดปุ๋ยที่บริเวณปลายราก ซึ่งทำหน้าที่ดูดน้ำ และธาตุอาหารด้วย โดยอยู่รอบๆ ชายพุ่มต้นแก้วมังกร หน้าดินที่จะหว่านเม็ดปุ๋ยนี้ ควรเปิดหน้าดินเล็กน้อย ด้วยการพรวนเบาๆ และไม่ต้องลึก ระวังไม่ให้รากเสียหาย เพราะระบบรากของต้นแก้วมังกรอยู่ตื้นมาก
๓) ปุ๋ยในช่วงออกดอกและติดผล
ให้เปลี่ยนสูตรปุ๋ยจากสูตรเสมอเป็นสูตรที่มีโพแทสเซียมมาก คือ ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร ๑๓-๑๓-๒๑ ซึ่งเชื่อกันว่า ช่วยให้ผลแก้วมังกร มีรสชาติหวานมากขึ้น ทั้งนี้ ควรให้ก่อนออกดอกประมาณ ๑-๒ เดือน สวนบางแห่งพบผลแก้วมังกรมีอาการผิดปกติ คือ เมื่อผ่าผล จะพบเมล็ดกระจุกตัวตรงศูนย์กลางของผล ไม่ได้กระจายตัวเหมือนผลแก้วมังกรทั่วไป ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ ยังไม่พบรายงาน การศึกษาวิจัย แต่ผู้ปลูกแก้วมังกรก็ได้พยายามช่วยกันแก้ปัญหา ด้วยการให้ธาตุแคลเซียมเพิ่มเติม โดยวิธีพ่นสารละลายแคลเซียมโบรอนในอัตราตามคำแนะนำในฉลาก ในกรณีที่แก้วมังกรให้ผลดกควรพิจารณาใส่ปุ๋ยเพิ่มเป็นพิเศษ อาจใส่ในปริมาณเพิ่มกว่าปกติร้อยละ ๒๕-๕๐ โดยต้องมีการบำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงก่อนออกดอกเสมอ
เนื่องจากปุ๋ยเคมีมีราคาแพงมากขึ้นแตกต่างจากปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งราคาไม่แพงมาก แต่มีสิ่งอื่นที่ต้องใคร่ครวญ ดังนั้น ต้องเปรียบเทียบปุ๋ยทั้ง ๒ ชนิด ให้ละเอียดรอบคอบและถี่ถ้วน โดยต้องคำนึงถึงผลิตผลที่ได้ต่อการลงทุนต่อหน่วยการผลิต ทั้งนี้ ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทดลอง โดยไม่ลืมคิดคำนวณค่าขนส่งและค่าแรงงาน
การใส่ปุ๋ยให้ต้นแก้วมังกร
๔) ความสมดุลในการให้ปุ๋ย
ปุ๋ยทุกชนิดมีราคาแพง ดังนั้น การให้ปุ๋ยในปริมาณมากหรือน้อยไป หรืออัตราส่วนของธาตุอาหารผิดเพี้ยนไปก็ไม่เกิดผลดี ด้วยประการทั้งปวง การศึกษาคุณสมบัติของดินจากการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน และการวิเคราะห์ตัวอย่างพืชที่มีสภาวะปกติมาตรฐาน แล้วนำมาประมวลหาธาตุอาหารที่พืชเอาไปใช้ การพิจารณาให้ปุ๋ยชดเชยปริมาณที่เสียไปจากทุกปัจจัยให้ครบถ้วน ทำให้เกิดความสมดุลของปัจจัยการผลิตกับผลิตผล ส่งเสริมประสิทธิภาพในการผลิต และไม่ฟุ่มเฟือยในการใช้ปัจจัยการผลิต ให้สูญเปล่า
๕) การให้ปุ๋ยทางน้ำ
เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลดี เพราะประหยัดทั้งน้ำ ปุ๋ย และแรงงาน เป็นประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณา ศึกษา และพัฒนา เพื่อใช้กับแก้วมังกรและพืชชนิดอื่นต่อไป โดยอาศัยข้อมูลของความสมดุลในการให้ปุ๋ย ทั้งนี้ รัฐต้องเป็นผู้นำดำเนินการสาธิต ให้ถึงแก่น ซึ่งวิธีการให้ปุ๋ย ณ ปัจจุบัน และเรื่องทุพโภชนาการ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย มีประสิทธิภาพน้อย เป็นปัญหาก่อให้ "โลกร้อนขึ้น" (global warming) ไม่ใช่ "สภาวะโลกร้อน" ธรรมดา ตามที่เขียน เป็นตัวหนังสือหรือพูดกันทั่วประเทศ
๔. ศัตรูของแก้วมังกร และการป้องกันกำจัด
บรรดาสรรพสิ่งที่มีชีวิตย่อมมีศัตรูคู่อาฆาตเสมอ เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการพลังงาน (อาหาร) เพื่อการอยู่รอดของตน ไม่ว่าจะเป็นรา แบคทีเรีย ทั้งที่เป็นมิตรหรือศัตรูของคนหรือตัวสัตว์ใดๆ
กิ่งแก้วมังกรที่เป็นโรค เกิดจากรา
เมื่อเริ่มปลูกแก้วมังกร ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า พืชชนิดนี้มีศัตรูไม่มาก แต่แท้ที่จริงแล้วพืชชนิดนี้มีศัตรูไม่น้อย เช่น มดคันไฟ การป้องกันกำจัดนอกจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ อาจใช้สารเคมีธรรมชาติจากสมุนไพร ที่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยที่ถูกต้อง รวมทั้ง การใช้ไวรัสและจุลินทรีย์ปรปักษ์ ซึ่งศัตรูของแก้วมังกรและการป้องกันกำจัด มีดังนี้
๑) โรคพืช
มีรายงานโรคของแก้วมังกรมากกว่า ๑๐ โรค ที่สำคัญ ได้แก่ โรคแอนแทรกโนสบนลำต้น สาเหตุเกิดจากรา Collectotrichum gloeosporioides ส่วนโรคแอนแทรกโนสบนผล สาเหตุจากรา C. sp. โรคแคงเคอร์บนลำต้น จากรา Dothiorella sp. และโรคผลเน่า จากรา Bipolaris cactivora การป้องกันกำจัดที่ควรทำ คือ สุขาภิบาลในแปลงปลูก และใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช (ยา) ที่พัฒนาขึ้นมา โดยใช้ตามคำแนะนำ ของนักโรคพืช ข้อควรระวังคือ ถ้าใช้ยาบางชนิดซ้ำๆ ติดต่อกันหลายๆ ครั้ง อาจทำให้จุลินทรีย์สาเหตุโรคเกิดการดื้อยาได้
ผลแก้วมังกรที่เป็นโรค
เกิดจากรา
๒) แมลง
แมลงที่สำคัญ ได้แก่ มดคันไฟ เพลี้ยไฟ และแมลงวันผลไม้ ให้ป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง หรือเรียกสั้นๆ ว่า สารพิษ และผู้รับประทานผลไม้ด้วย ทั้งนี้ ควรเติมสารลดแรงตึงผิวเพื่อให้สารพิษกำจัดศัตรูพืชออกฤทธิ์ได้เต็มที่ สำหรับแมลงวันผลไม้ การพ่นสารพิษไม่ได้ผลเท่าที่ควร ต้องใช้ทั้งเหยื่อพิษและกับดักที่ใส่สารดึงดูดแมลงวันผลไม้เมทิลยูจีนอล (methyl eugenol) เพื่อล่อแมลงวันให้มาติดกับดัก รวมทั้ง มีการใช้ถุงห่อผล เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้และนกด้วย และเช่นเดียวกันกับโรคพืช พึงระวังแมลงดื้อสารพิษด้วย หากใช้ไม่ถูกต้อง
มดคันไฟกัดกินยอดอ่อน
๓) วัชพืช
วัชพืชคือ พืชที่ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ หญ้าต่างๆ ที่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และพืชใบเลี้ยงคู่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมาแย่งน้ำและธาตุอาหาร จากพืชประธาน นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรู และจุลินทรีย์สาเหตุโรคของแก้วมังกร โดยทั่วไปทำการกำจัดด้วยการขุด ถอน ตัด และการใช้สารเคมีปราบวัชพืช แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะสารเคมีปราบศัตรูพืชเปรียบเสมือนดาบสองคม ฆ่า หรือทำลายได้ ทั้งหญ้าและพืชประธาน หรือใช้ชีววิธี
๔) ศัตรูอื่นๆ
ศัตรูของแก้วมังกร ได้แก่ นกกินผลไม้ หนู กระรอก โดยเฉพาะนก ควรใช้ถุงตาข่ายมุ้งห่อผลก่อนผลจะเปลี่ยนสี
การใช้ตาข่ายมุ้งห่อผล แต่ควรระวังหญ้า ซึ่งอาจเป็นแหล่งกระจายโรค
๕. การออกดอกและติดผล
๑) การออกดอกในฤดู
ผถ้าปลูกแก้วมังกรต้นพันธุ์ที่ดี แข็งแรง และเจริญเติบโตดี แก้วมังกรอาจออกดอกเมื่อปลูกไปได้เพียง ๖ เดือน ทั้งนี้ ต้องได้รับการกระตุ้นให้เกิดตาดอกด้วยความยาวของกลางวันที่นานเพียงพอ ในภาคกลาง แก้วมังกรจะออกดอกตามธรรมชาติ ประมาณช่วงสงกรานต์ ดอกเกิดใหม่ซึ่งพัฒนาจากลำต้นจริงจะดันกลุ่มหนามโผล่ขึ้นมา มีขนาดใกล้เคียงเมล็ดถั่วเหลือง เรียกว่า ตุ่มดอก
ตุ่มดอกพันธุ์เนื้อขาวเบอร์ ๑๐๐
๒) การออกดอกนอกฤดู
เกษตรกรและนักวิชาการเกษตรบางคนต้องการให้แก้วมังกรออกดอกนอกฤดู โดยวิธีการ ให้แสงสว่างจากหลอดไฟฟ้า รายงานต่างๆ สรุปได้ว่า ในช่วงวันสั้น เมื่อให้ไฟฟ้าแสงสว่าง ๒๐๐ วัตต์ หลังจากพระอาทิตย์ตกดินเป็นเวลา ๔ ชั่วโมง ก็สามารถชักนำให้แก้วมังกร ออกดอกติดผล โดยจำนวนที่ได้ไม่มากเท่าการออกดอกในฤดู และไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ในเชิงพาณิชย์ เพราะอุปกรณ์ ค่าแรงงาน และพลังงานไฟฟ้าแพงมาก นอกจากความเข้มแสงและช่วงแสงแล้ว ความยาววิกฤติของกลางวันนับว่า เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องศึกษา แม้แต่การชักนำให้แตกตาด้วยสารเคมีต่างๆ ก็อาจทำให้แตกเป็นตากิ่งหรือตาดอกก็ได้ ซึ่งต้องศึกษาวิจัยและวินิจฉัยให้ดี
ดอกตูมพันธุ์แดงไต้หวัน
๓) การติดผล
"ตุ่มดอก" จะเจริญเป็นดอกที่พร้อมจะบาน มีรูปร่างคล้ายดอกจำปี ยาว ๒๐-๒๕ เซนติเมตร และเมื่ออายุได้ประมาณ ๑๕ วัน ดอกจะเริ่มบานช่วงเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ดอกบานมีลักษณะคล้ายแตร โดยบานอยู่เพียงคืนเดียว รุ่งเช้าก็หุบ ถือว่า แก้วมังกรติดผลสำเร็จแล้ว
๖. การเจริญเติบโตของผล
ผลแก้วมังกรที่เกิดใหม่มีผิวสีเขียว เจริญเติบโตเร็วมาก หลังดอกบาน ๒๕-๒๗ วัน สีของเปลือกเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีแดงเรื่อๆ ในช่วงนี้เนื้อมีรสชาติหวานน้อย-เปรี้ยวมาก และต่อมา ๓-๕ วัน เปลือกก็พัฒนาเป็นสีแดงอมชมพู เนื้อมีรสชาติหวานมากขึ้นและเปรี้ยวลดลง ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้พิจารณาตัดสินในการเก็บเกี่ยวผลได้ ถ้าปล่อยผลไว้นานกว่านี้ ผลก็จะแก่มากขึ้นและงอม
การเจริญเติบโตของผลเปลี่ยนแปลงจากผลเปลือกสีเขียว เปลี่ยนเป็นสีชมพู แล้วเป็นสีแดงอมชมพู